++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

“ข้าวสังข์หยด” เมืองลุงเนื้อหอม ล่าสุดถูกต่างถิ่นสวมสิทธิเพียบ



พัทลุง - แม้ข้าวสังข์หยดของ จ.พัทลุง จะได้รับความไว้วางใจจนเป็นที่ไว้วางใจของตลาด แต่ล่าสุดพบว่า มีการสวมสิทธิอ้างแหล่งกำเนิดจากพื้นที่อื่น ซึ่งไม่ได้รับรองว่าปลอดอินทรีย์

แหล่งข่าวจากชาวนาปลูกข้าวสังข์หยดจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการนำข้าวสังข์หยดจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น จากนครศรีธรรมราช สงขลา เข้ามาสวมเป็นพันธุ์ข้าวสังข์หยดพัทลุง แล้วบรรจุถุงจำหน่ายไปหลายพื้นที่จนถึงจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นข้าวสังข์หยดประเภทปลอดอินทรีย์ แต่ไม่ได้รับการรับรองแต่อย่างใด โดยขายส่ง ราคา 40 บาท, 45 บาท และ 60 บาท/กก. หากขายเป็นเกวียนอยู่ที่ 12,000 บาท และ 15,000 บาท/เกวียน

“ที่น่าหวั่นวิตกว่าจะสร้างภาพลบให้ข้าวสังข์หยดพัทลุงที่ได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพราะการปลูกข้าวสังข์หยดพัทลุง จะต้องมีกระบวนการขั้นตอน แม้กระทั่งพันธุ์ข้าวสังข์หยดที่ปลูกก็ต้องเป็นเมล็ดที่ผ่านขั้นตอนได้รับการรับรองเช่นกัน”

นายอนุชา เพชรจำรัส ผู้จัดการกลุ่มเกษตรทำนาตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ในปีนี้กลุ่มเกษตรทำนาตะโหมดได้ขยายพื้นที่ทำนารวมแล้วประมาณ 500 ไร่ โดยพัฒนาจากนาร้างได้ทั้งหมดที่เหลืออยู่ประมาณ 30 ไร่ โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตจังหวัดตรัง ได้เข้ามาทำการวิจัยปลูกข้าวสังข์หยดพัทลุงนั้น ได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอมาแล้ว และข้าวเล็บนก ข้าวหอมปทุม ซึ่งกลุ่มทำนาเกษตรตะโหมดทำไว้เพื่อบริโภค และเหลือจากการบริโภคก็จำหน่ายเป็นข้าวปลอดสารเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ กำจัดศัตรูพืชก็ใช้สารอินทรีย์

นายจักรกฤษณ์ สามัคคี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเรียนรู้เกษตร อ.บางแก้ว จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มวิสาหกิจยังดำเนินการปลูกข้าวสังข์หยดตามกระบวนการจีไอตามขั้นตอนที่ได้รับการรับรองจากทางการ ซึ่งราคาก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 20,000 บาท/เกวียน

รายงานข่าวจากสำนักเกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ข้าวสังข์หยดพัทลุงปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ 12,886 ไร่ ได้ผ่านการรับรองจีไอเป็นข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ประมาณ 2,045 ไร่ ยังไม่สามารถขยายตัวเติบโตได้ เพราะต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับในภาคใต้ตอนนี้มีการปลูกข้าวสังข์หยดมากเป็นอันดับ 1 คือ พัทลุง นอกนั้นมีจังหวัดนครศรีธรรมราช และสงขลา แต่ยังปลูกไม่มาก

“ขณะนี้ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยดให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของเกษตรกร ข้าวสังข์หยดพัทลุงมีจุดเด่นในด้านคุณค่าทางโภชนาการ เป็นข้าวเพื่อสุขภาพ โดยนิยมบริโภคในกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ”

นายไพรวัลย์ ชูใหม่ นักวิชาการชำนาญการ เกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ในปีที่แล้วทางจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำข้าวสังข์หยดไปพัฒนาปลูกในพื้นที่ ปรากฏว่าได้ผลงอกงามกว่าพื้นที่จังหวัดพัทลุงมาก สามารถได้ถึงไร่ละ 700 กก. และ 800 กก. ขณะนี้พื้นที่จังหวัดพัทลุง ได้ประมาณ 500 กก./ไร่ ปัจจัยสำคัญที่จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่มีความเหมาะสม และสมบูรณ์มาก โดยปลูกระบบปลอดสารพิษ ใช้สารอินทรีย์เช่นเดียวกัน จึงมีแนวโน้มว่าจะมีการขยายตัวปลูกต่อไป โดยใช้ชื่อว่าข้าวสังข์หยดอุบล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น