++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ผู้ป่วยสมองเสื่อมเฮ! นักวิจัย “แสงซินโครตรอน” วิเคราะห์ธาตุเส้นผม-เร่งผลิตยารักษา



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเฮ! นักวิจัยไทยสุดยอดใช้แสงซินโครตรอนศึกษาวิเคราะห์ธาตุสำคัญในเส้นผมครั้งแรกของโลก พบเส้นผมผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมี 3 ธาตุสำคัญสูงกว่าคนปกติ มีผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกายและการทำงานของระบบประสาท เผยเตรียมต่อยอดงานวิจัยเพื่อเร่งหาสมุนไพรไทยผลิตยารักษาโรคสมองเสื่อม คาดใช้เวลาอีก 3-5 ปีได้ยารักษาฝีมือคนไทยแน่

ผศ.ดร.จารุวรรณ ศิริเทพทวี อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า ภาวะสมองเสื่อ (Dementia) คือภาวะที่สมองทำงานลดลงกว่าเดิม ทำให้ความรอบรู้ ความจำ ความคิด การตัดสินใจเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพและพฤติกรรมของผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว อาการอาจรุนแรงจนกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมักมีอาการทางจิตร่วมด้วย โรคสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) และภาวะสมองเสื่อมจากการชักนำโดยหลอดเลือด (Vascular Dementia) เช่น ภาวะอ้วน เส้นเลือดอุดตัน และเกิดจากการสัมผัสสารเคมี หรือความไม่สมดุลของธาตุในร่างกาย

ปัจจุบันโรคสมองเสื่อมมีอุบัติการณ์สูงขึ้นในทั่วโลก แต่ยังไม่มีการค้นพบวิธีการรักษาได้ จากรายงานล่าสุดขององค์การ Alzheimer’s Disease International ประเมินว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมทั่วโลกประมาณ 35 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยคาดว่ามีผู้ป่วยประมาณ 800,000 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และปัจจุบันยังไม่มีรายงานใดระบุสาเหตุของโรคสมองเสื่อมได้แน่ชัด บางรายงานระบุว่ามาจากกรรมพันธุ์ มาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการสัมผัสสารเคมี ความเครียด เป็นต้น

ผศ.ดร.จารุวรรณกล่าวต่อว่า ตนได้ร่วมกับทีมงานวิจัย ประกอบด้วย ดร.วันวิสา พัฒนศิริวิศวะ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ พญ.อัญชลี ศิริเทพทวี แพทย์ประจำโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ร่วมกันศึกษาธาตุเจือในเส้นผมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมด้วยแสงซินโครตรอนโดยใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy) เพื่อศึกษาโครงสร้างระดับอะตอมในการวัดหาแร่ธาตุและองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ในเส้นผม

การเลือกใช้เส้นผมของผู้ป่วยมาทำการวิจัยเนื่องจากเป็นตัวอย่างที่สามารถเก็บได้ง่าย มีความคงทน และมีการสะสมของธาตุอยู่มาก แร่ธาตุมีการสะสมตลอดตามช่วงอายุ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากส่วนประกอบในเลือดและปัสสาวะรวมถึงน้ำไขสันหลังที่มีการปรับเปลี่ยนปริมาณธาตุในแต่ละวันไม่คงที่ ซึ่งการทดสอบต้องใช้ CTสแกน ปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างสูง

สำหรับการวิจัยนี้เป็นการหาความไม่สมดุลของแร่ธาตุในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆ เปรียบเทียบกับคนปกติ โดยหลีกเลี่ยงวิธีการเจาะเลือด และสารคัดหลั่งต่างๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนที่มีความแม่นยำสูง ผู้ป่วยไม่ทรมานในช่วงการเก็บตัวอย่าง

ทีมงานวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างเส้นผมของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมและคนปกติรวม 30 รายที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆ 15 ราย ในโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย 1 ราย, ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมร่วมกับโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) 1 ราย, ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะปานกลาง 2 ราย และอีก 11 รายเป็นผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจากการชักนำโดยหลอดเลือด เช่น ภาวะอ้วน เส้นเลือดอุดตัน ส่วนที่เหลืออีก 15 รายเป็นคนปกติทั่วไป

ทั้งนี้ ตัวอย่างเส้นผมจะมีขนาดความยาว 10 ซม. กว้าง 2 มม. และเป็นเส้นผมที่ไม่ผ่านการโกรกผม ย้อมผม ทำสี การใช้น้ำยายืดผม ดัดผม โดยตัดเอาบริเวณตั้งแต่โคนผม จากนั้นนำมาทำความสะอาด แช่น้ำยาเพื่อล้างเอาไขมัน และสิ่งเจือปนออกก่อนทำการวิจัยด้วยแสงซินโครตรอน

ผลการศึกษาพบว่า ธาตุในเส้นผมจากทั้ง 2 กลุ่มมีธาตุสำคัญ คือ ออกซิเจน, ซัลเฟอร์, คลอรีน, ซิลิกอน, แมกนีเซียม, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส แต่เส้นผมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั้นจะมีสัดส่วนของธาตุแคลเซียม, คลอรีน และฟอสฟอรัส ในปริมาณที่สูงกว่าคนปกติ ซึ่งค่าความน่าจะเป็นควรน้อยกว่า 0.05 ธาตุดังกล่าวนี้จะมีผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย รวมทั้งการทำงานของระบบประสาทมนุษย์

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่สัมพันธ์กับอัลไซเมอร์ และพาร์กินสันจะมีองค์ประกอบของซัลเฟตอยู่ในระดับที่สูงกว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในกลุ่มภาวะสมองเสื่อมจากการชักนำโดยหลอดเลือด (Vascular Dementia) ผลการศึกษาวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการวิเคราะห์หาสัดส่วนปริมาณธาตุที่สำคัญในเส้นผม และองค์ประกอบของธาตุนั้น สามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการบ่งชี้ภาวะโรคสมองเสื่อมได้

ด้าน ดร.วันวิสา พัฒนศิริวิศวะ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า แสงซินโครตรอนมีลักษณะพิเศษกว่าแสงชนิดอื่นเพราะมีความคมชัดสามารถดูองค์ประกอบต่างๆ ได้ในระดับอะตอม และสามารถวัดแร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่ในเส้นผมได้ โดยทีมงานได้ใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ พบว่าเทคนิคนี้สามารถบอกองค์ประกอบของธาตุว่าเปลี่ยนแปลงจากซัลเฟตเป็นซัลเฟอร์ ทำให้เกิดการขับของเสียหรือเกิดเป็นพิษขึ้นมาในร่างกาย ซึ่งในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และพาร์กินสันจะมีซัลเฟตมากกว่าคนปกติ ส่วนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจากการชักนำโดยหลอดเลือด หรือ Vascular Dementia กับคนปกติจะไม่มีซัตเฟตสูง

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมาก คือทำให้ทราบว่าระดับความสมดุลของแร่ธาตุระหว่างคนปกติกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม รวมทั้งโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆ มีธาตุเหล่านี้แตกต่างกัน เช่น พวกธาตุแคลเซียมจะเกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญในร่างกาย รวมทั้งการสืบประสาทในร่างกาย หากมีแคลเซียมระดับต่ำก็จะทำให้เกิดโรคทางระบบประสาทได้หลายชนิด แต่ขณะเดียวกัน จากการสืบค้นงานวิจัยอื่นๆ พบว่าถ้าแคลเซียมมีปริมาณสูงมากก็ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เหตุที่แคลเซียมสูงจะชักนำให้เกิดการฝังตัวตามเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งสมองก็จะเกิดพยาธิภาพขึ้นมาได้

“งานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ในการศึกษาวิเคราะห์หาสัดส่วนปริมาณธาตุที่สำคัญในเส้นผม และองค์ประกอบของธาตุนั้นสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการบ่งชี้ภาวะโรคสมองเสื่อมและต่อยอดสืบค้นตัวยาได้ เป็นเทคนิคแรกของโลกที่ทำการศึกษาจากตัวอย่างเส้นผมของคนไข้ ซึ่งบทความงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ Journal of Synchrotron Radiation และได้รับทุนการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ถือว่าเป็นงานวิจัยในระดับแนวหน้าของไทยที่จะพัฒนาได้อีกต่อไป” ดร.วันวิสากล่าว

ดร.วันวิสากล่าวอีกว่า ทีมงานวิจัยใช้เวลาในการทำงานวิจัยชิ้นนี้นานกว่า 1 ปี และขณะนี้ได้มีการต่อยอดงานวิจัยดังกล่าวด้วยการสืบค้นข้อมูลในการคิดค้นตัวยามาทำการรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจากสมุนไพรพื้นบ้านของไทยตามสาเหตุโรคสมองเสื่อมแต่ละชนิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบค้นข้อมูล แต่กว่าจะหาสมุนไพรได้ และทำการสกัดสารออกมา ก่อนนำไปทดลองในผู้ป่วยคงต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน

“การทำงานศึกษาวิจัยจะต้องใช้งบประมาณสนับสนุนค่อนข้างมาก จึงคาดว่าภายใน 3-5 ปีน่าจะมียารักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทยโดยฝีมือนักวิจัยไทยแน่นอน” ดร.วันวิสา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น