++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อุทัยฯ จัดตักบาตรเทโวยิ่งใหญ่ฉลองปีพุทธชยันตี-ดึง“พิ้งกี้” แสดงนำ แสง สี เสียง



     อุทัยธานีเตรียมจัดงานประเพณีตักบาตรเทโวอย่างยิ่งใหญ่เฉลิมฉลองปีพุทธชยันตี เพื่อสืบสาน เอกลักษณ์ความภาคภูมิใจของจังหวัด ด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยมีไฮไลท์คือการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม ชุด “เทโวโลกะไตร มหาไตรบารมี” คืนวันที่ 30 ต.ค.นี้ ที่วัดสังกัสรัตนคีรี ส่วนเช้าวันที่ 31 จัดประเพณีตักบาตรเทโว
       
       นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี กล่าวว่า “ประเพณีตักบาตรเทโวที่วัดสังกัสรัตนคีรี เป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดที่จัดได้สอดคล้องกับตำนานในสมัยพุทธกาลมาก โดยมีบันได 499 ขั้น ทอดยาวจากมณฑปรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสะแกกรัง ลงสู่บริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรีซึ่งอยู่เชิงเขา เปรียบเสมือนบันไดทิพย์ที่พระอินทร์เนรมิตจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทอดลงสู่เมืองสังกัสสะนคร พระภิกษุสงฆ์จากทุกอำเภอของอุทัยธานีจะเดินลงจากบันไดมารับบิณฑบาต ให้พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญ ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และข้าวต้มลูกโยนตามประเพณี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง”


การแสดง แสง สี เสียง

       ทั้งนี้ ในช่วง 19.30 น. วันที่ 30 ต.ค. ซึ่งเป็นวันออกพรรษา จะจัดการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม ชุด “เทโวโลกะไตร มหาไตรบารมี” นำเสนอเรื่องราวผ่านเทพธิดาสุพรรณิการ์ (ฝ้ายคำ) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ตั้งแต่การก่อร่างสร้างเมือง และความสำคัญของอุทัยธานีในด้านต่างๆ ทั้งการเป็นเมืองของสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก (ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) มีพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองคือ “พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์” สมัยสุโขทัย ที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มาประดิษฐานที่อุทัยธานี ปัจจุบันอยู่ที่วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งเป็นวัดสำคัญที่จัดงานประเพณีตักบาตรเทโว การแสดงชุดนี้มีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง นำแสดงโดย “พิ้งค์กี้” สาวิกา ไชยเดช รับบทเทพธิดาสุพรรณิการ์
     
       “สำหรับวันที่ 31 นั้น จะเริ่มประเพณีตักบาตรเทโวในเวลา 09.00 น. โดยบรรดาพุทธศาสนิกชนจะร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พร้อมทั้งข้าวต้มลูกโยนกันอย่างเนืองแน่น นอกจากนี้ยังมีการจัดขบวนแห่รถบุปผชาติเกี่ยวกับพุทธประวัติ ในเขตเทศบาลเมือง พร้อมทั้งจัดแสดงโต๊ะหมู่บูชาประดับด้วยงาช้างที่สวยงามอย่างยิ่ง ซึ่งมีให้ชมเฉพาะที่อุทัยธานีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เนื่องจากสมัยก่อนอุทัยธานีเป็นเมืองที่ต้องจับช้างส่งไปให้กรุงศรีอยุธยาเป็นประจำ ทั้งยังเป็นเมืองทำไม้ซึ่งต้องใช้ช้างจำนวนมากช่วยในการชักลากซุง เมื่อช้างล้มก็เก็บงาเอาไว้ บ้านคหบดีส่วนใหญ่จึงมีงาช้างบ้านละหลายคู่เป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกหลาน ที่เก็บรักษาโดยประดับคู่กับโต๊ะหมู่บูชาประจำบ้าน ต่อมาเมื่อมีการจัดขบวนแห่รถพุทธประวัติในงานประเพณีตักบาตรเทโว ทางจังหวัดจึงเชิญชวนบ้านต่างๆ ที่มีงาช้าง มาร่วมจัดแสดงหรือประกวด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเรา” นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น