++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ม.อ.จับมือลงนามวิจัยป้องกันน้ำท่วม-ชลประทานสงขลาฯ ชงงบกว่า 5,000 ล.

ม.อ.จับมือลงนามวิจัยป้องกันน้ำท่วม-ชลประทานสงขลาฯ ชงงบกว่า 5,000 ล.

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.จับมือหน่วยงานต่างๆ ลงนามความตกลงร่วมมือวิจัยเพื่อป้องกันน้ำท่วม ในขณะที่มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยน และถอดบทเรียนหาดใหญ่โมเดลที่บูรณาการงานป้องกันน้ำท่วม เพื่อขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งขณะนี้ภาครัฐเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝนที่กำลังมาถึงนี้ ขณะที่ชลประทานสงขลาชงงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท ปรับปรุงคลองระบายน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการรับมือสถานการณ์น้ำมากในอนาคต


นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา



วันนี้ (29 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดสัมมนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง...สู้ภัยน้ำท่วม” ครั้งที่ 4 โดยมีนักวิชาการทั้งจาก ม.อ. นักวิจัย ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายสหวิทยาการแห่งราชบัญฑิตสถาน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นต้น รวมถึงผู้นำท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟัง พร้อมทั้งมีพิธีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ และการวิจัยระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประธานพิธีเปิดกล่าวว่า อ.หาดใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของจังหวัด และในภาคใต้ตอนล่างต้องประสบปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด เนื่องจากตั้งอยู่ในแนวลุ่มน้ำ จึงต้องมีการเรียนรู้การป้องกัน และแก้ปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา ได้ทำหาดใหญ่โมเดลที่ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อเป็นข้อมูลเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดการประชุมเพื่อถอดบทเรียนลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตามแผนปฎิบัติการของหาดใหญ่โมเดลมาแล้ว 3 ครั้ง และแลกเปลี่ยนความรู้กับพื้นที่อื่นๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนางานวิจัย และสร้างองค์ความรู้ใหม่ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และการขยายผลเป็นสงขลาโมเดล ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดที่บริหารป้องกัน และจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

รศ.ดร.เกริกชัย ทองหนู รองอธิการบดีฝ่ายระบบสารสนเทศและโครงสร้างกายภาพ ม.อ.หาดใหญ่ เปิดเผยว่า ในส่วนของการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ม.อ.ได้เตรียมในเรื่องสถานที่จอดรถในหลักพันคัน พร้อมทั้งปรับปรุงในระบบการดูแลความปลอดภัยที่จะมีการลงทะเบียน และเข้าดูแลความปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น โดยปีนี้ ได้อาคารศูนย์กีฬามาเพิ่ม ทำให้มีพื้นที่จอด และพื้นที่สำหรับผู้อพยพเพิ่มจากอาคารกิจการนักศึกษา


(ขวา) นายสุรศักดิ์ คันธา ผ.อ.โครงการชลประธานสงขลา



ส่วนนายสุรศักดิ์ คันธา ผอ.โครงการชลประทานสงขลา กล่าวว่า ในภารกิจของกรมชลประทานได้ดูแลการขุดลอกคูคลองบางช่วงแล้ว พร้อมกับดูแลน้ำในอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง คือ ที่อ่างเก็บน้ำสะเดา คลองหลา และคลองจำไหร โดยการพร่องน้ำจาก 84 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เหลือเพียง 27 ล้านลูกบาศก์เมตรรับมือหน้าฝนนี้ ขณะเดียวกัน ก็ได้ของบประมาณในการปรับปรุง และขยายคลอง ร.1 ให้สามารถรับ และระบายน้ำได้มากขึ้น รวมถึงการติดตั้ง และเพิ่มสถานีสูบน้ำให้ระบายลงทะเลสาบสงขลาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ภายใต้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนการแก้ปัญหาจากต้นน้ำที่คลองพะตงที่ทุ่งลุง อ.สะเดา นั้น ก็ได้ของบแยกอีก 300 ล้านบาท ในอีกโครงการให้ระบายน้ำลงสู่คลองแทงแม่ และเข้าคลองอู่ตะเภา ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งขณะนี้ การเจรจาเวนคืนที่ดินบางส่วนเป็นไปด้วยดี





ทั้งนี้ การประชุมนี้เป็นการระดมสมองเพื่อให้ทุกภาคส่วนจากลุ่มน้ำต่างๆ ที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน ได้เห็นระบบการจัดการที่มีคณะกรรมการจัดการภัยน้ำท่วมลุ่มน้ำอู่ตะเภา คณะกรรมการย่อยชุดต่างๆ รวมทั้งศูนย์จำลองปริมาณน้ำท่า หรือศูนย์วิจัยภัยพิบัติที่นักวิชาการของ ม.อ.เป็นผู้บริหารศูนย์ฯ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำในการเตือนภัยแก่คณะกรรมการประเมินสถานการณ์น้ำที่ได้กระจายข้อมูลสู่สื่อต่างๆ อย่างถูกต้อง และเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง





โดยการสัมมนาประกอบด้วย การระดมกลไกการจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฎิบัติการหาดใหญ่โมเดล ก่อนที่จะระดมความเห็น และข้อเสนอแนะในช่วงบ่าย เพื่อถอดบทเรียนจากการปฎิบัติสู่การขยายผลสู่ลุ่มน้ำต่างๆ จัดทำกรอบการวิจัยจากปัญหาของพื้นที่ โดยประชาชนทั้งใน และนอกพื้นที่จังหวัดสงขลาได้เรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำกรับการพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยเพื่อช่วยเหลือชุมชน และสร้างองค์กรความรู้ใหม่ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม


นายพิรสิญจ์ พันธ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา



ด้านนายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และประธานคณะทำงานวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ จ.สงขลา กล่าวเพิ่มเติมแก่ผู้สื่อข่าวว่า ในส่วนของการวางแผนป้องกันน้ำท่วมนั้น มีการซักซ้อมแผนและเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ก่อนที่จะกระจายข่าวสารข้อมูลอย่างถูกต้องแม่นยำไปให้สื่อมวลชน และประชาชน แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ สถานการณ์รับมือภัยพิบัติดินภูเขาสไลด์ และดินโคลนถล่ม ซึ่งมีพื้นที่เฝ้าระวังใน 4 อำเภอ ได้แก่ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี และรัตภูมิ ในกรณีที่เกิดน้ำฝนตกติดต่อกัน 3 วัน ทำให้ดินอุ้มน้ำไว้ไม่ไหว และอาจสไลด์ลงมา หรือมีน้ำป่าทะลัก ที่ต้องยอมรับว่ายังไม่มีประสบการณ์แก้ไข และป้องกันได้ดีเท่ากับน้ำท่วม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น