++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

อำพล ยกพระราชดำรัส "ในหลวง" ขรก.ต้องไม่โลภจึงจะรักษาป่าไม้ไว้ได้

องคมนตรี” ยกพระราชดำรัส "ในหลวง" ให้ศิษย์เก่าวนศาสตร์ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่โลภ จึงจะรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่ได้ ด้านอ.จุฬาฯ ชี้ทำลายป่าไม้ทำน้ำท่วมกว่าสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยน พร้อมจี้รัฐแจงแผนป้องกันน้ำท่วม

เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (9 มี.ค.) ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ ร่วมกับคณะวนศาสตร์ สมาคมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จัดโครงการสัมมนาเรื่อง “วิถีป่าไม้ (ไทย) สู้ภัยธรรมชาติ” โดยมีนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษโดยให้น้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานแก่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสนำคณะกรรมการ กยน. และ กยอ. เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายรายงานเรื่องแผนจัดการน้ำ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ใจความว่า นายกรัฐมนตรีและคณะได้เข้าเฝ้าฯ และน้อมนำแนวพระราชดำริไปเป็นแนวทาง เช่น การที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปดูพื้นที่ที่จะดำเนินการเช่นที่เขื่อนสิริกิติ์ ก่อนที่จะนำข้อมูลมารวบรวมดำเนินการ ในวันที่เข้าเฝ้านี้คณะกรรมการน้ำ ซึ่งประกอบด้วย 9 กระทรวง และ 36 กรม ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องที่พระราชทานคือเรื่องของป่าไม้ การปลูกต้นไม้ที่ต้องมีการปลูกทั้งไม้โตเร็วและไม้โตช้า ผสมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมทั้งพระองค์ทรงเน้นย้ำในเรื่องการทำงานของข้าราชการที่ต้องทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ข้าราชการต้องไม่โลภและอยากได้เงินจึงจะรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่ได้

ทั้งนี้ นายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า จากการวิจัยพื้นที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่นำน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์พบว่าจ.น่านตั้งแต่ปี 2505-2509 มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ป่าอย่างชัดเจนโดยมีการเพิ่มขึ้นของการทำไร่ข้าวโพดถึง 70% ซึ่งคณะวิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ของปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัจจัยการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินพบว่าการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินมีผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัยพบว่าในพื้นที่ที่มีป่าไม้สมบูรณ์ปริมาณของน้ำฝนก็จะมีความสม่ำเสมอ มีพายุฝนมากกว่า 2 ลูกต่อปีเปรียบเทียบกับปัจจุบันปริมาณฝนก็จะตกหนักรวดเดียวเพียง 1 ครั้ง ส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ เนื่องจากจะต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนมาเป็นปริมาณมาก เพราะฝนตกหนักในคราวเดียวทำให้ต้องเร่งระบายน้ำ เห็นได้จากกรณีล่าสุดเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เขื่อนสิริกิติ์ปล่อยน้ำมากกว่าเขื่อนภูมิพลถึง 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากมีฝนตกหนักเพียงแค่ครั้งเดียว ทำให้น้ำเต็มเขื่อนทันที

นายสุจริต กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นจากการศึกษาของคณะวิจัยของตนยังพบว่าการสูญเสียพื้นที่ป่าจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้น้ำหายไป 2,000-3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2543 ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณฝนที่ตกใน จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำค่อนข้างสูงทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนได้อย่างไม่มีปัญหา แต่จากการคาดการณ์ต่อไปพบว่าจะเข้าสู่วงรอบของการขาดแคลนน้ำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากนี้ไปน้ำในลุ่มน้ำน่านจะลดลงเฉลี่ย 1,111 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งวงรอบนี้จะใช้เวลาถึง 20 ปีจึงจะเข้าสู่ภาวะฝนตกปกติ ซึ่งการจัดการน้ำในเขื่อนจะเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้น

“อย่างไรก็ตามสำหรับการปลูกป่าต้นน้ำ สิ่งที่ขาดขณะนี้คืองานวิจัยทางวิชาการที่อ้างอิงได้ว่าหากปลูกป่าเพิ่มจะช่วยเก็บกักหรือชะลอน้ำได้ปริมาณเท่าใด ไม่เหมือนกับการสร้างอ่างเก็บน้ำซึ่งสามารถคำนวณปริมาณกักเก็บน้ำไว้ได้ก่อน ดังนั้นการที่ภาครัฐจะทุ่มงบประมาณเป็นหมื่นล้านบาทจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะเรื่องนี้กว่าจะมองเห็นผลได้ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าต้นไม้จะเติบโต ทั้งนี้การดำเนินการในเรื่องการปลูกป่าของภาครัฐยังมีกรอบเวลามาเกี่ยวข้อง อยากทราบว่าหากรัฐบาลมีโจทย์ในเรื่องเวลามาก ถ้าเกิดน้ำท่วมบริษัทประกันไม่ได้รับประกันประเทศไทย การปลูกป่าจึงยังไม่ใช่โจทย์ทางวิชาการแต่เรื่องการใช้งบประมาณ ซึ่งสิ่งที่เราต้องการคือภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ รัฐบาลจะต้องมีแผนบริหารจัดการที่มีหลักการ สร้างความมั่นใจให้ทั้งกับประชาชนและนักลงทุนจากต่างประเทศด้วยว่าจะมีมาตรการรองรับอย่างไร” นายสุจริตกล่าว

นายสุจริต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การแก้ปัญหาป่าต้นน้ำจะแก้ปัญหาแบบปะผุ ตรงไหนไม่มีต้นไม้ก็นำไปปลูกลงไปไม่ได้ เพราะการแก้ปัญหาพื้นที่ต้นน้ำต้องมองทั้งเรื่องดิน ป่า และเชื่อมโยงถึงชุมชนสังคมโดยรอบด้วย จะเป็นไปได้หรือไม่ในการที่จะให้ประชาชนที่ร่วมรักษาป่านอกจากจะได้ในเรื่องคาร์บอนเครดิตแล้วยังสามารถได้ประโยชน์ในเรื่องน้ำหรือวอร์เตอร์เครดิตได้หรือไม่ เพราะมีผลการวิจัยแล้วว่าป่าสามารถผลิตน้ำได้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อาจจะนำแนวคิดไปจ่ายค่ารักษาป่าให้กับชุมชน เพื่อนำน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นแรงจูงใจให้คนรักษาป่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น