++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

บาดแผล....ของภาคตะวันออก

บาดแผล....ของภาคตะวันออก
โดย บรรจง นะแส

แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก หรือโครงการ (Eastern Seaboard) เป็นแผนพัฒนาที่รัฐบาลในยุคนั้นได้เน้นการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แก่เอกชนและนักลงทุนเพื่อให้ต้นทุนต่ำ และเกิดการผลิตที่คล่องตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ จากระยะเวลาของโครงการตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมาการพัฒนาครอบคลุมพื้นที่ 8.3 ล้านไร่ ถึงวันนี้ผลจากการพัฒนาในทิศทางดังกล่าว ทำให้พื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกเต็มไปด้วยบาดแผล ซ้ำเป็นบาดแผลที่เรื้อรังและยังมองไม่เห็นวิธีรักษา...

ในวันนั้นวันที่รัฐบาลได้กำหนดให้พื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกที่มีหาดทรายสวยงาม มีชุมชนประมงชายฝั่งกระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่ชายหาดและชุมชนถูกแปลงให้เป็นท่าเรือพาณิชย์ เป็นท่าเรือน้ำลึกสำหรับขนถ่ายสินค้าซึ่งประกอบไปด้วยท่าเรือสินค้า ท่าเรือสินค้าเกษตร ท่าเทียบเรือชายฝั่ง มีการสร้างเขื่อนกันคลื่น ขุดร่องน้ำลึก ตลอดจนโครงการสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า ประปา ทางรถไฟ ฯลฯ มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง กำหนดให้มีพื้นที่สำหรับเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป เขตอุตสาหกรรมส่งออก และเขตพาณิชยกรรม

ที่มาบตาพุด จ.ระยอง มีการพัฒนาขึ้นมาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลัก และพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ ประกอบไปด้วยท่าเรืออุตสาหกรรมน้ำลึกที่สามารถรองรับเรือขนาดระวางขับน้ำ 60,000 ตัน เพื่อขนถ่ายสินค้านำเข้าและส่งออก ประกอบด้วยท่าเรือสินค้าทั่วไป 1 ท่า และท่าเรือสินค้าเฉพาะ 2 ท่า นิคมอุตสาหกรรม มีพื้นที่เป้าหมาย 8,000 ไร่ เป็นเขตอุตสาหกรรม 6,000 ไร่ มีอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายชนิด

ในตอนนั้นรัฐบาลได้บอกกับประชาชนว่า อุตสาหกรรมในมาบตาพุดจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น การผลิตน้ำมัน สารเคมี เม็ดพลาสติก ซึ่งต้องใช้ช่าง วิศวกร และช่างฝีมือที่มีความรู้สูง มีการลงทุนสูง แต่ใช้แรงงานน้อย นอกจากนั้นสำนักผังเมืองจะได้จัดทำผังเมืองรวมชุมชนเมืองใหม่ให้กับแหลมฉบังและชุมชนเมืองใหม่มาบตาพุด เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดแหล่งชุมชนแออัดขึ้น

มีการโฆษณาชวนเชื่อว่าการพัฒนาชายฝั่งตะวันออก จะทำให้ลดการอพยพเข้ามาของประชากรและลดการสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพฯ จะทำให้ลดการนำเข้า เพราะมีการผลิตสินค้าที่จำเป็นใช้ภายในประเทศ โดยผลิตขึ้นเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาขาดดุลการค้าระหว่างประเทศได้ ประชาชนอย่างเราและชาวบ้านทั่วๆ ไปฟังแล้วปลื้มชวนหลงใหล

จากปี 2522 ถึงปี 2550 สามสิบกว่าปีผ่านไป สิ่งที่รัฐบาลเคยบอกไว้กับประชาชนเริ่มส่งผลในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะในส่วนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนาดังกล่าว ทั้งต่อบุคคลไม่ว่าในเรื่องของสุขภาวะพวกโรคภัยไข้เจ็บ อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการปล่อยมลพิษมาจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่างๆ ชุมชนหลายๆ ชุมชนล่มสลายโดยเฉพาะชุมชนประมงชายฝั่ง ที่เป็นแหล่งจับกุ้งหอยปูปลาอาหารโปรตีนจากทะเลให้กับผู้คนในละแวกนั้น โรงเรียน วัด สถานีอนามัยหลายแห่งก็ต้องอพยพย้ายหนี เพราะไม่สามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษและส่งผลให้ไม่สามารถดำรงชีวิตปกติได้

ชุมชนที่สะสมความคับแค้นต่อผลกระทบที่ปราศจากการแยแสไยดีต่อผู้มีอำนาจ เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อบอกเล่าให้สังคมได้รับรู้และตระหนักต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกคนจนทำให้ไม่สามารถอดทนยอมจำนนได้อีกต่อไป 10 กว่าปีของการลุกขึ้นมาสู้เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ของชุมชนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพวกเขา ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ อำนาจมืด ที่เลือกยืนข้างฝ่าย

ภาคอุตสาหกรรม ปล่อยให้ภาคประชาชน ชุมชนต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวตลอดมา การระบุให้ชุมชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและมีศาลปกครองที่มีอำนาจพิจารณาคดีความอันว่าด้วยการปกครองที่ละเมิดสิทธิต่างๆ ของประชาชนและชุมชน เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจึงได้ใช้ช่องทางในการพึ่งศาลยุติธรรม เพื่อขอความเป็นธรรมที่พวกเขาถูกละเมิดจากภาคอุตสาหกรรม โดยนำความเดือดร้อนอันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมที่กระทบต่อชุมชน เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง

29 กันยายน 2552 สิ่งที่อยู่เหนือความคาดหวังของคนทั่วประเทศก็เกิดขึ้น เมื่อศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ระงับ 76 โครงการลงทุนเพื่อคุ้มครองชุมชนมาบตาพุด เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานก่อนประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีความพยายามของภาคอุตสาหกรรมในการที่จะดิ้นรนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองผ่านกลไกต่างๆ แต่อย่างน้อยๆ บาดแผลของพี่น้องภาคตะวันออกก็เริ่มได้รับการดูแลรักษา

จากสาเหตุพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกถึงจุดอิ่มตัว เพราะความหนาแน่นของมลพิษในอากาศบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเพิ่มขึ้นจนมีผลกระทบต่อสุขภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็มีการพูดถึงความพยายามที่จะย้ายพื้นที่การพัฒนาในรูปแบบเดียวกันนี้ไปสู่พื้นที่ของภาคใต้

บทเรียนจากภาคตะวันออกทำให้พี่น้องภาคใต้กังวลต่อทิศทางในการพัฒนาดังกล่าว เรากังวลว่าจะเกิดมลพิษทางทะเล บนบก และอากาศ สร้างภาวะโลกร้อน อุบัติภัยทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ การพัฒนาแบบเดียวกับภาคตะวันออกเป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาภูมิภาคที่คนใต้พึงปรารถนาหรือไม่ เคยถามกันบ้างไหม หรือเป็นเพียงความต้องการของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่ร่วมกับนักการเมือง และข้าราชการประจำที่หวังผลประโยชน์มหาศาลจากโครงการต่างๆ

บทเรียนจากภาคตะวันออกทำให้เราได้เรียนรู้การพัฒนาในทิศทางดังกล่าวว่าล้วนเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นฐานอาชีพหลักของชุมชน ซึ่งเสมือนการสร้างบาดแผลที่ไร้คนรับผิดชอบและเยียวยารักษา ปล่อยให้เรื้อรังและทยอยตายไปทีละคนๆ ภาคตะวันออกซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่าแปดหมื่นล้านบาท แต่การรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาดังกล่าวต่อพี่น้องและชุมชนของภาคตะวันออก เท่าที่รู้มาพบว่าพวกเขาได้รับแต่ยาระงับประสาทและยาแก้ปวดเท่านั้นเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น