++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

"พิธีตักบาตรเที่ยงคืน"

เป็นการใส่บาตรด้วยเวลาที่ผิดแผกแตกต่างไปจากการทำบุญตักบาตรโดยทั่วไป ทำให้ดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น แต่สำหรับพุทธบริษัทในภาคเหนือแล้ว การตักบาตรในยามเที่ยงคืนในวัน "เป็งปุ๊ด" ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนา ที่สืบทอดปฏิบัติมาหลายร้อยปี

ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน หรือพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ ในทุกปีที่มีวันขึ้น ๑๕ ค่ำที่ตรงกับวันพุธ โดยไม่เจาะจงว่าต้องอยู่ในเดือนใด พระภิกษุสามเณรในเมืองทุกรูปจะออกบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืน โดยมีความแตกต่างของการนับเวลาคือ ที่ จ.เชียงใหม่ จะตักบาตรคืนวันอังคารหลังเวลา ๐๐.๐๐ น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่วันพุธ ในขณะที่ จ.เชียงราย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน จะใส่ตักบาตรในคืนวันพุธเวลา ๒๔.๐๐ น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ บางปีอาจมีครั้งเดียว หลายครั้ง หรือไม่มีเลย ก็ได้ เป็นประเพณีนิยมที่มีเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น

สำหรับประวัติความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่เข้าใจว่าทางภาคเหนือคงรับเอามาจากพม่าอีกต่อหนึ่ง พม่ามีความเชื่อว่า พระอุปคุตซึ่งเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เสด็จลงไปจำศีลภาวนาอยู่ ณ สะดือทะเล ในรอบ ๑ ปีจะขึ้นมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ

ชาวพม่ามักตื่นแต่ดึก เพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต โดยมีคติความเชื่อว่า หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้วจะได้บุญใหญ่หลวง เกิดโชคลาภ และความเป็นสิริมงคลในชีวิต คติความเชื่อนี้จึงทำให้พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ

พระครูพัฒนาธิมุต เจ้าอาวาสวัดอุปคุต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นวัดเพียงหนึ่งเดียวในดินแดนล้านนา ที่สืบสานประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดมาไม่ต่ำกว่า ๒๕๐ ปี จากหลักฐานประวัติของวัดที่มีการบูรณะฟื้นฟูครั้งใหญ่ใน พ.ศ.๒๓๐๐ พบว่ามีการสืบทอดประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าอาวาสวัดทุกยุคทุกสมัยได้จัดประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนถือปฏิบัติโดยทั่วไปในภาคเหนือ แต่พบมากใน จ.เชียงใหม่ และเชียงราย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพม่า ในยุคที่อาณาจักรล้านนาเป็นเมืองขึ้นของพม่า ในช่วง พ.ศ.๒๑๐๑-๒๓๑๗ กระทั่งวัฒนธรรมไทยลื้อได้หล่อหลอมผสมผสานกับวัฒนธรรมล้านนา และวัฒนธรรมของคนไทยใหญ่ในรัฐฉาน ของพม่า ปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้

ในคืนวันอังคารที่ ๒๔ สิงหาคม นี้ วัดอุปคุตจะจัดพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ดขึ้นอีกครั้ง หลังจากมีขึ้นครั้งแรกของปีนี้ คือในคืนวันที่ ๒๗ เมษายน ที่ผ่านมา เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. พระสงฆ์จะประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในวิหารหลวง จากนั้นเป็นพิธีถวายข้าวมธุปายาสแด่พระมหาอุปคุต จวบจนเวลาล่วงเข้าเที่ยงคืนวันเพ็ญ ขบวนพระสงฆ์ สามเณร จะเดินออกจากวิหารไปรับบาตรจากพุทธศาสนิกชนภายในบริเวณวัด เป็นอันเสร็จพิธี โดยทางวัดได้จัดเตรียมสถานที่ทั้งในบริเวณวัด เพื่อรองรับชาวพุทธล้านนา ที่คาดว่าจะร่วมประเพณีสำคัญนี้หลายพันคน เช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านๆ มา

"พุทธศาสนิกชนล้านนา ผู้มีจิตศรัทธาจะทำบุญตักบาตรในคืนเป็งปุ๊ดจำนวนมาก และจะเป็นการทำพิเศษกว่าวันอื่น เพราะถือว่าได้อานิสงส์แรง โดยจะตระเตรียมสำรับข้าวสาร อาหารแห้ง คอยใส่บาตร ยามเที่ยงคืน ขณะที่ปัจจุบัน วัดอุปคุตได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ใส่บาตรด้วยยารักษาโรค นอกเหนือไปจากข้าวสารอาหารแห้ง โดยปัจจัยเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังวัดในถิ่นทุรกันดาร" พระครูพัฒนาธิมุต กล่าว

ด้าน พระอธิการประพันธ์ อินฺทญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธสันติวิเวก ต.บุญนาคพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง บอกว่า การทำบุญตักบาตรเป็งปุ๊ด ไหว้สาพระมหาอุปคุตเถรเจ้า ของวัด เป็นแห่งเดียวใน จ.ลำปาง โดยพิธีจะเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น. จะทำพิธีอัญเชิญพระมหาอุปคุตเถรเจ้า ขึ้นประดิษฐานบนปราสาทจำลอง เวลา ๒๐.๐๐ น. ไหว้พระรับศีล เจริญพระพุทธมนต์ พระเกจิอาจารย์นั่งปรกอธิษฐานจิต สมโภช พระมหาอุปคุตเถรเจ้า เทศนาเรื่องประวัติและอานิสงส์ใส่บาตรพระมหาอุปคุตเถรเจ้า และถวายทาน เมื่อใกล้ถึงเวลาเที่ยงคืน พระสงฆ์ ๕๐ รูปของวัดจะออกมารับบาตรข้าวสารอาหารแห้ง โดยผู้ที่ใส่บาตรมีความเชื่อว่า พระอุปคุตจะมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ ชาวบ้านจะตื่นแต่ดึก เตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตรุ่งเรืองด้วยโชคลาภ แคล้วคลาดจากอุบัติภัยทั้งปวง

มติคณะสงฆ์มิอาจขวางศรัทธา

อย่างไรก็ตาม โดยก่อนหน้านี้ ทางมติคณะสงฆ์หลายจังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ได้มีการสั่งห้ามแล้ว แต่เนื่องจากประเพณีดังกล่าวเป็นประเพณีความเชื่อที่สืบทอดกันมานาน การห้ามความเชื่อแรงศัทธา ถือได้ว่าเป็นเรื่องยาก

พระราชสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรวิหาร กล่าวว่า การตักบาตรกลางคืนเป็นประเพณีของชาวพม่ามาตั้งแต่โบราณกาล ส่วนชาวเหนือในพื้นที่ ๘ จังหวัด ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน และมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับพม่า จึงมีความกลมกลืนกันไป ซึ่งการออกมาบิณฑบาตในตอนกลางคืนของพระสงฆ์และสามเณรตามหลักของพระพุทธศาสนาถือว่าผิดวินัย เพราะเป็นยามวิกาล พระสงฆ์จะออกมาบิณฑบาตได้ในเวลาประมาณตีห้า หรือ ภาษาเหนือเรียกว่า "ตีนฟ้ายก" หรือ แบมือจนเห็นเส้นลายมือแล้ว จึงจะสามารถออกไปบิณฑบาตได้ ซึ่งเรื่องนี้ ทางคณะสงฆ์ได้มีการนำเอาเข้าที่ประชุมมาหลายครั้งแล้ว พร้อมกับได้ประกาศให้พระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตได้ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. แต่พอมาถึงวันเป็งปุ๊ด จะพากันออกมาบิณฑบาตกันตั้งแต่เวลาห้าทุ่ม ไปจนถึงตีสี่ตีห้าของอีกวัน เรื่องนี้คงจะไปห้ามปรามไม่ได้

ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า คำว่า แสงเงินแสงทอง คือ การขึ้นไปแห่งอรุณ เป็นการเปรียบเทียบว่า แสงจากรุ่งอรุณเปรียบเป็นแสงเงินแสงทอง แต่ในสมัยโบราณยังไม่มีความเจริญทางเทคโนโลยี ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีนาฬิกาบอกเวลา ก่อนออกบิณฑบาตพระสงฆ์จึงต้องดูลายมือของตัวเอง หากไม่ปรากฏเส้นลายมือ ให้ถือว่ายังไม่รุ่งอรุณ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเจริญแล้ว สถานที่ต่างๆ มีไฟฟ้าส่องสว่าง ทำให้กลางคืนเหมือนกลางวัน การดูลายมือจึงนำมาเป็นมาตรฐานไม่ได้ เมื่อกระแสสังคมเห็นว่า พระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตในย่านชุมชนยามวิกาล เป็นสถานที่ไม่เหมาะสม แต่เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามไว้ ก็สมควรที่จะปรับเปลี่ยนมาจัดพิธีในวัด ให้ชาวบ้านรวมตัวทำบุญตักบาตรเป็งปุ๊ดในวัด ก็ไม่น่าจะเสียหายแต่อย่างใด
"พุทธศาสนิกชนล้านนาผู้มีจิตศรัทธา จะทำบุญตักบาตรในคืนเป็งปุ๊ดจำนวนมาก และจะเป็นการทำพิเศษกว่าวันอื่น เพราะถือว่าได้อานิสงส์แรง โดยจะตระเตรียมสำรับข้าวสาร อาหารแห้งคอยใส่บาตรยามเที่ยงคืน"

เรื่อง เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์
ภาพ สุระกิจ รัตนศรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น