++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

นาทีวิกฤติที่คนปกติกลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

แม่ของน้องที่รู้จักเพิ่งเป็น หมอไม่รับรองว่าจะหาย 100% อยากส่งเป็นวิทยาทาน เพื่อจะได้รู้เท่าทันโรค ก่อนอาการจะรักษายากครับ
บทนำ : นาทีวิกฤติที่คนปกติกลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

ผู้เขียนตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ปีละ 1-2 ครั้ง ไม่เป็นโรคเบาหวาน ไม่มีโรคหัวใจ ไขมันไม่สูง ไม่เคยประสบอุบัติเหตุ ไม่เคยผ่าตัด ออกกำลังกาย (กอล์ฟ) ทุกสัปดาห์ แต่มีปัญหาเกี่ยวกับไต ต้องทานยาเพื่อคุมความดันให้อยู่ที่ประมาณ 120/80
ผลการตรวจสุขภาพทุกครั้งไม่พบความผิดปกติใดๆที่น่าเป็นห่วง คุณหมอยังชมว่ามีสุขภาพค่อนข้างดีกว่าคนในวัยเดียวกันที่กำลังจะขึ้น "หลักห้า" ซะด้วยซ้ำ
แต่ความจริงแล้ว สุขภาพของผู้เขียนไม่ได้ดีขนาดนั้น ผู้เขียนเป็นคนชอบดื่มเหล้าทุกครั้งที่มีงานสังสรรค์ (แต่อยู่คนเดียวไม่เคยดื่ม) สูบบุหรี่วันละ 10-15 มวน สนุกกับการทำงาน และสนุกกับการคิดหาเรื่องใหม่ๆมาทำ จึงมีเวลานอนพักผ่อนเพียงวันละ 4-5 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ใช่เป็นคนที่สะสมความเครียด หัวถึงหมอนทีไรหลับสนิททุกที
แต่การใช้ชีวิตที่ไม่ถูกตามหลักสุขอนามัยเช่นนี้ต่อเนื่องนานเป็นสิบๆปี จึงทำให้เหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนภัยใดๆ
เช้าวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2554 ด้วยวัย 49 ปี หลังจากที่ผู้เขียนตื่นนอนและทำกิจวัตรประจำวันเสร็จสิ้นและกำลังจะออกไปทำงาน แขนและขาซีกซ้ายก็เกิดอาการอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน จนไม่สามารถยืนทรงตัวได้ ซึ่งเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้เขียนจึงถูกหามส่งโรงพยาบาลในสภาพอัมพาตครึ่งซีก ต้องลาหยุดงานเพื่อทำกายภาพบำบัดจนถึงทุกวันนี้

โรคหลอดเลือดสมองน่ากลัวเพียงใด?
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์สูงเป็นอันดับต้นๆ รองจากโรคเอดส์ และโรคมะเร็ง โดยจำแนกเป็นโรคหลอดเลือดแตก หลอดเลือดอุดตัน และหลอดเลือดตีบ ปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปมาก ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีจะมีอัตราการเสียชีวิตน้อยลงมาก แต่ปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็คือ ความพิการทางร่างกาย การกลืนกิน ระบบขับถ่าย การพูด และความทรงจำ ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์สมองในบริเวณใดได้ถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด
ผู้ป่วยที่ได้รับการฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด บางรายอาจกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นเดิม แต่เกือบทุกรายจะมีอาการพิการหลงเหลืออยู่ไม่มากก็น้อย หรือบางรายอาจจะเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิตก็มี
หลังจากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองครั้งแรก ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็นโรคเดิมซ้ำได้อีกในอัตราสูง โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรกจากการเป็นโรคครั้งที่แล้ว เนื่องจากหลอดเลือดของผู้ป่วยรายนั้นมีอาการเสื่อม ไม่ยืดหยุ่น หรือมีความผิดปกติกว่าบุคคลอื่นทั่วไป ดังนั้นจึงมีโอกาสที่หลอดเลือดจะแตก ตีบ หรืออุดตันในบริเวณอื่นในสมองได้อีก ซึ่งหากเป็นซ้ำ การฟื้นฟูจะทำได้ยากกว่าเดิม

ทำกายภาพเพื่อใคร เพื่ออะไร?
ถ้าจะพูดแบบตรงไปตรงมา กายภาพบำบัด ก็คือ สิ่งที่ทำแล้วเจ็บ เหนื่อย หนัก ทำไปแล้วก็ไม่มีหลักประกันว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหรือหายจากอาการพิการ ไม่เหมือนกับการรักษาโรคชนิดอื่น ซึ่งเมื่อกินยาให้ครบทุกมื้อและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ อาการเจ็บป่วยก็จะดีขึ้นเอง
ดังนั้น การทำกายภาพบำบัด จึงต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยฝืนใจทำ หรือถูกบังคับให้ทำ แต่ต้องเกิดจากความมุ่งมั่นของผู้ป่วย ที่ต้องการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เช่น การลุกนั่ง การยืน การเดิน การกลืนกิน การขับถ่าย ได้ด้วยตนเอง
การทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งที่เห็นผลได้ช้า ดังนั้น ผู้ป่วยที่ไม่ได้ทำการภาพบำบัดด้วยความมุ่งมั่นของตนเอง อาจเกิดความท้อถอย และบางรายอาจถึงขั้นสิ้นหวังในการต่อสู้กับชีวิต ญาติและผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญที่จะต้องให้กำลังใจกับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

การพยากรณ์อาการผู้ป่วยโรคสมองและประสาทเป็นเรื่องยาก
ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองทุกราย จะมีความวิตกกังวลว่า อาการอัมพาตที่เกิดขึ้นนั้น จะสามารถฟื้นฟูได้หรือไม่ ในระดับใด และใช้เวลานานเท่าไร ผู้ป่วยทุกรายจะวิตกว่า จะต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต หรือจะสามารถเดินได้โดยใช้ไม้เท้าช่วยพยุง หรือจะกลับมาเดินได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงใดๆ
แต่เนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาท เป็นโรคที่มีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อน แพทย์และนักกายภาพบำบัดที่ผู้เขียนประสบ จึงมักหลีกเลี่ยงการพยากรณ์อาการของผู้ป่วย แต่จะพูดในเชิงให้กำลังใจไม่ให้ผู้ป่วยท้อถอยหรือสิ้นหวังเสียมากกว่า
ผู้เขียนเคยอ่านพบในอินเตอร์เน็ตว่า เมื่อแพทย์ในต่างประเทศวิเคราะห์อาการและสภาพของผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะพยากรณ์อาการของผู้ป่วยให้ญาติหรือตัวผู้ป่วยได้ทราบโดยตรง เช่น หากในสัปดาห์ที่ .... ผู้ป่วยยังไม่สามารถทำ ......... ได้ ก็คงจะมีโอกาสที่จะ ......... ได้น้อยมาก
ยกตัวอย่าง (สมมุติ) เช่น หากในสัปดาห์ที่ 4 ผู้ป่วยยังไม่สามารถขยับขาได้ ก็อาจจะต้องนั่งรถเข็นไปตลอดทั้งชีวิต เป็นต้น
จากนั้นแพทย์ก็จะกำหนดเป้าหมายในการฟื้นฟูให้สอดคล้องกับการพยากรณ์และพัฒนาการของผู้ป่วยนั้นๆ และแจ้งให้ผู้ป่วยและญาติได้ทราบโดยชัดเจนต่อไป
แน่นอนว่าการพยากรณ์ดังกล่าว เป็นเพียงการคาดการณ์ตามข้อมูลเชิงสถิติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่าจะถูกต้องทั้ง 100% ผู้ป่วยเองก็ไม่เคยคิดว่าแพทย์จะพยากรณ์ถูกไปหมดทุกอย่าง
ผู้เขียนเริ่มทำกายภาพบำบัดพร้อมๆกับนักศึกษาคนหนึ่งซึ่งประสบอุบัติเหตุที่ต้นคอ ทำให้เป็นอัมพาตขยับอวัยวะที่ต่ำกว่าลำคอลงมาไม่ได้ ระหว่างที่ฝึกกายภาพบำบัด เขาถามครูฝึกว่า คนที่เป็นหนักขนาดนี้ มีกี่คนที่กลับมาเดินได้ด้วยขาของตนเอง แต่ครูฝึกไม่ได้ตอบอะไร เขาจึงพูดต่อไปว่า "ไม่เป็นไร ถ้ายังไม่มีใครเคยเดินได้ เขาจะฝึกจนเดินได้เป็นคนแรกเอง" ผู้เขียนไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้เขาได้รับคำตอบแล้วหรือไม่ แต่หลังจากนั้นอีก 2 เดือนในวันที่ผู้เขียนออกจากศูนย์ฝึกฯ เขาสามารถนั่งพิงผนังได้ ขยับแขนได้ และเล่น facebook โดยใช้ดินสอผูกติดกับข้อมือเพื่อจิ้มแป้นคีย์บอร์ดได้

เขียนเว็บไซต์นี้ขึ้นมาทำไม?
การติดตามประเมินผลการฟื้นฟูผู้ป่วยระบบประสาทและสมอง เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะการฟื้นฟูจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป นานเป็นแรมเดือนหรือแรมปี
บุคคลากรในวงการแพทย์และกายภาพบำบัดของประเทศไทยมีจำนวนไม่เพียงพอ และมีเวลาไม่เพียงพอที่จะเก็บข้อมูลแบบสถิติในเชิงลึก ในขณะที่ผู้ป่วยก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งผู้ป่วยก็อาจเปลี่ยนสถานที่รักษา เปลี่ยนแพทย์หรือนักกายภาพ หรือเกิดปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ป่วยซ้ำอีก ฯลฯ จึงทำให้การเก็บข้อมูลแบบละเอียดต่อเนื่องระยะยาว เพื่อเป็นข้อมูลเชิงสถิติสำหรับพยากรณ์อาการของผู้ป่วยในอนาคต เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
เราอาจจะเคยได้ยินว่า ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองบางราย หายกลับมาเป็นปกติ เดินได้ วิ่งได้ ขับรถได้ เล่นกีฬาได้ หรือบางทีเราอาจเคยได้ยินว่าผู้ป่วยบางรายต้องใช้เวลาฝึกเป็นปีๆ จึงพอจะเริ่มเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัว
แต่ส่วนใหญ่เรามักจะไม่ทราบว่า ผู้ป่วยเหล่านั้นป่วยหนักขนาดไหน เข้ารับการรักษาพยาบาลและเริ่มทำกายภาพบำบัดได้ทันท่วงทีหรือไม่ แต่ละช่วงมีการฟื้นฟูหรือพัฒนาการมากน้อยเพียงใด
การพยากรณ์อาการผู้ป่วย จึงอาจเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องร่วมมือช่วยกันทำขึ้นมาเอง
ผู้เขียนมีความเชื่อโดยส่วนตัวว่า
- ผู้ป่วยที่มีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน เช่น เซลล์สมองถูกทำลายในบริเวณเดียวกัน
- มีอาการในช่วงแรกคล้ายๆกัน เช่น ขยับแขนขาได้หรือไม่ได้พอๆกัน
- มีพัฒนาการคล้ายๆกัน เช่น เดือนที่ 1 ทำ...ได้ เดือนที่ 2 ทำ...ได้
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ย่อมมีโอกาสที่จะเดินไปถึงปลายทางที่คล้ายๆกันได้
แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถค้นหาข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อใช้เป็นต้นแบบได้ ผู้เขียนจึงขอเป็นฝ่ายนำข้อมูลของตนเอง นับตั้งแต่ฟิล์ม CT-scan และ MRI เพื่อชี้บริเวณที่เส้นเลือดสมองตีบและเซลล์สมองถูกทำลาย และบันทึกประสบการณ์นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับการรักษา ตลอดจนรายละเอียดการทำกายภาพบำบัด และพัฒนาการในแต่ละช่วง มาจดบันทึกไว้ในเว็บไซต์นี้
แม้จะทราบดีว่าอาการป่วยและการฟื้นฟูของผู้ป่วยแต่ละราย มีความแตกต่างกัน บันทึกของผู้เขียนอาจจะนำไปเปรียบเทียบกับผู้ป่วยรายอื่นไม่ได้
แต่การที่ผู้ป่วยรายใดรายหนึ่งจะมีโอกาสได้รู้ข้อมูลของผู้ป่วยรายอื่น ย่อมดีกว่าการที่ไม่รู้อะไรเลย
ผู้เขียนหวังว่าบันทึกการรักษาและการทำกายภาพบำบัด ตลอดจนบันทึกผลการฟื้นฟูอาการอัมพาตครึ่งซีกในเว็บไซต์นี้ จะเป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยรายอื่น เพื่อฟื้นฟูสมรรถนะของผู้ป่วยแต่ละรายให้ดียิ่งๆขึ้นต่อไป
และเพื่อทำให้ข้อมูลสมบูรณ์ขึ้น ผู้เขียนได้รวมรวบข้อมูลเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง การทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด ตลอดจนข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์ เท่าที่พอจะสืบค้นมาได้ มาจดบันทึกไว้กันลืม เพื่อที่จะได้นำเซลล์สมองที่เหลืออยู่น้อยลงกว่าเก่า ไปใช้ประโยชน์อื่นต่อไป

คำเตือน !
ผู้เขียนไม่มีวิชาความรู้ด้านการแพทย์
ข้อมูลในเว็บไซต์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นการจดบันทึกเหตุการณ์ที่ผู้เขียนประสบกับตนเองด้วยความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อน และอีกส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่ค้นหามาจากเว็บไซต์ต่างๆ โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลนั้นๆ
ผู้อ่านจึงต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง และหากจะนำไปอ้างอิงหรือใช้ประโยชน์ จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วยตัวของท่านเอง
ด้วยความปรารถนาดี
เว็บมาสเตอร์
สิงหาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น