++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ถูกชมคือธรรมดา ถูกด่าก็ไม่เลว

ถูกชมคือธรรมดา ถูกด่าก็ไม่เลว

โดย ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย [4-8-2008]

หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าว "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" กันมาบ้างแล้ว
คำกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของจิต
หรืออีกนัยหนึ่งของความคิดได้เป็นอย่างดีว่า จิตกำหนดวัตถุ
หรือกายเป็นไปตามอำนาจของจิต

ผู้รู้ท่านหนึ่งเคยกล่าวถึงความสำคัญของจิต หรือความคิดไว้ว่า

"เธอจงระวังความคิด เพราะความคิดจะกลายเป็นการกระทำ

เธอจงระวังการกระทำ เพราะการกระทำจะกลายเป็นนิสัย

เธอจงระวังนิสัย เพราะนิสัยจะกลายเป็นบุคลิก

เธอจงระวังบุคลิก เพราะบุคลิกจะกำหนดชะตากรรมของเธอ"

ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า เรามีความคิดหรือวิธีคิดอย่างไร
ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านให้ความสำคัญกับวิธีคิดเป็นอันมาก
พระนักปราชญ์ท่านหนึ่งได้ประมวลวิธีคิดในพุทธศาสนาไว้ว่ามีมากกว่า ๑๐
วิธี

วิธีคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราควรนำมาปรับใช้ในชีวิตก็คือ วิธีคิดเชิงบวก

วิธีคิดเชิงบวก หมายถึง การรู้จักเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ
ซึ่งโดยมากมักแสดงตัวให้เราได้สัมผัสในแง่ลบ แต่พอเราพลิกมุมมองใหม่
เราจะได้อะไรดีๆ จากเรื่องลบๆ เหล่านั้น เช่น
ในชีวิตจริงของผู้เขียนซึ่งทำงานกับคนหมู่มาก
มักจะพบกับคำชมและคำด่าอยู่เสมอ ๆ เมื่อแรกเผชิญกับคำชม ผู้เขียนก็ฟู
ครั้นพบกับคำด่าก็แฟบ
แต่เมื่อเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อคำชมและคำด่า ก็รู้สึกว่า
ได้คุณค่าจากคำด่าคำชมเป็นอันมาก

คำชมนั้น สำหรับคนที่ไม่คิดอะไรมาก ดูเหมือนว่า
ไม่ลำบากใจเลยที่จะน้อมรับ แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว
คำชมนั่นแหละคืออันตรายยิ่งกว่าคำด่า เพราะหากเรารู้ไม่ทัน
คำชมจะทำให้เราหลงตัวเองและมีโอกาสลืมตัวสูง ส่วนคำด่า
ถ้าพิจารณาไม่ดีก็ทำให้เราเสียศูนย์ได้ง่ายๆ
แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งด้วยวิธีคิดแบบมองโลกในแง่ดี
บางทีคำด่ากลับมีค่ามากกว่าคำชม

คำด่ามีค่ามากอย่างไร ?

(๑)คำด่า คือ กระจกเงาสะท้อนความบกพร่องของงานที่เราทำ

(๒)คำด่า มักแฝงคำแนะนำมาด้วยเสมอ

(๓)คำด่า บอกเราว่า
สิ่งที่เราทำอยู่นั้นหากมีคนที่คิดไม่เหมือนเราเขามองดูอยู่
เขาเห็นอะไรในสิ่งที่เรามองไม่เห็นบ้าง

(๔)คำด่า คือ กระดาษทรายอย่างดี
ที่คอยขัดสีฉวีวรรณให้เรามีความกลมกล่อมลงตัวเหมือนพระประธานที่ต้องถูกกระดาษทรายขัดสีฉวีวรรณจนผุดผ่อง

(๕)คำด่า ทำให้เราไม่ประมาทผลีผลามทำอะไรด้วยความเชื่อมั่นมากเกินไป

(๖)คำด่า ทำให้รู้ว่า มีคนรักหรือเกลียดเรามากน้อยแค่ไหน

(๗)คำด่า ทำให้รู้ว่า อย่างน้อยก็มีคนสนใจในสิ่งที่เราทำ หรืออย่างน้อย
สิ่งที่เราทำมันกำลังส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง
จึงมีคนอุทิศตนมาสนใจและด่าอย่างเป็นงานเป็นการ

(๘)คำด่า จะทำให้เราได้หันกลับมาดูภูมิธรรมของตนเองว่า
เข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน เมื่อทุกข์กระทบแล้วธรรมกระเทือน
หรือกิเลสกระเทือน ถ้า ธรรมกระเทือนแสดงว่าเราฝึกตนเองมาดี
แต่ถ้ากิเลสกระเทือนแสดงว่า
ต้องกลับไปฝึกจิตตัวเองใหม่ให้เข้มแข็งกว่านี้

(๙)คำด่า ทำให้เราได้รู้ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครหนีโลกธรรม ๘ ได้ (ได้ลาภ
เสื่อมลาภ,ได้ยศ เสื่อมยศ,สรรเสริญ นินทา,สุข ทุกข์)

(๑๐)คำด่า คือ บทเรียนเรื่องการปล่อยวางตัวกูหรืออัตตาที่ดีที่สุด
เพราะหากเรายังปล่อยวางตัวกูไม่ได้
เราก็จะต้องหาวิธีด่าคืนอยู่ไม่สิ้นสุด =

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น