++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ใช้เหตุการณ์จริงในชีวิตสอนเรื่องธรรมให้ลูก/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เนื่อง ในวันสำคัญทางพุทธศาสนาทั้งวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา
ดิฉันขอหยิบยกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังเรื่องธรรมให้แก่ลูกได้
ตั้งแต่ยังเล็กมาฝากเพื่อนผู้อ่าน

ดิฉันได้สัมภาษณ์นพ. วิทยา วันเพ็ญ จิตแพทย์
ประจำโรงพยาบาลพระรามเก้า ผ่านทางรายการ "พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย"
ทางสถานีวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว FM 105
มีประเด็นที่น่าสนใจอยากเล่าให้ฟังค่ะ

ประเด็นเรื่องการปลูกฝังเรื่องธรรมให้แก่ลูกสามารถทำได้ตั้งแต่เล็ก
ทำได้ในชีวิตประจำวัน แต่หัวใจก่อนที่จะสอนเรื่องธรรมกับลูก
ก็ต้องเริ่มจากพ่อแม่ต้องเรียนรู้เรื่องธรรมซะก่อน

ยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ลูกจะเลียนแบบผู้ใหญ่ในบ้าน เด็กจะเรียนรู้ทั้งการดู และการฟัง
บางครั้งผู้ใหญ่ขับรถผิดกฎจราจร
พอโดนตำรวจเรียกก็แอบให้เงินตำรวจต่อหน้าลูก
เขาก็เรียนรู้ว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง
เพราะคนที่เขารักที่สุดทำให้เห็นซะขนาดนั้น

เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรกับเขา เขาก็จะใช้วิธีเดียวกันนี้ในการแก้ปัญหาไปด้วย

นั่นก็คือ เมื่อแม่ปูเดินเบี้ยว ลูกปูก็จะเดินเบี้ยวตามไปด้วย

คุณหมอพูดถึงเรื่องธรรมว่าเกี่ยวข้องกับคำว่า "บวร"
บ คือ บ้าน
ว คือ วัด
ร คือ โรงเรียน

ทั้งสามส่วน
มีส่วนอย่างยิ่งต่อการปลูกฝังให้เด็กเติบโตขึ้นไปในสังคมอย่างมีธรรมอยู่ในใจ

ภายในบ้าน มีพระพุทธอยู่ในบ้าน
พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักการไหว้พระ สวดมนต์ก่อนนอน ชวนลูกใส่บาตร
หรือพาไปลูกไปวัดเมื่อมีโอกาส พอไปโรงเรียน ก็มีการสวดมนต์ขณะเข้าแถว
และมีการเรียนการสอนเรื่องพุทธศาสนา ก็เป็นการปลูกฝังเด็กๆ ไปด้วย
และเมื่อมีโอกาสไปวัดก็ควรได้ให้ลูกสัมผัสกับพระสงฆ์ และพิธีกรรมต่างๆ
ภายในวัด รวมถึงการฟังเทศน์ฟังธรรมตั้งแต่เล็ก
เพื่อให้เขาเกิดความคุ้นชินกับศาสนา

จากนั้นเมื่อมีโอกาสในทุกสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน
ก็สามารถสอดแทรกเรื่องธรรมให้กับลูกได้ตลอดเวลา และอาจชวนลูกคุยไปด้วย
จะได้รู้ว่าลูกคิดอะไร

ดิฉันได้หยิบยกเหตุการณ์จริงเหตุการณ์หนึ่งที่ดิฉันชอบหยิบมาพูดถึง
เสมอๆ เพราะมีคติสอนใจที่ดียิ่งสำหรับพ่อแม่และผู้ใหญ่อย่างเราๆ
กันเป็นอย่างดี

เรื่องมีอยู่ว่า
เด็กหญิงวัยประถมต้นคนหนึ่งได้เห็นเหตุการณ์ที่มีเด็กชายสองคนทะเลาะกัน
และระหว่างนั้นเด็กชายคนแรกพลาดพลั้งทำกระจกแตก เมื่อคุณครูมาพบ
และถามว่าใครเป็นคนทำกระจกแตก เด็กชายคนแรกซึ่งเป็นคนทำแตก
ก็ชี้ไปที่คู่กรณีแล้วบอกว่าเด็กชายคนที่สองเป็นคนทำ

เด็กชายคนที่สองซึ่งเป็นเด็กเรียบร้อย
และรู้ว่าเด็กชายคนแรกเป็นเด็กเกเร ไม่อยากมีเรื่องก็เลยทำเฉย
จึงถูกคุณครูลงโทษมากกว่า

แต่แล้วเด็กหญิงผู้ซึ่งเห็นเหตุการณ์มาตลอด ก็ทนไม่ได้
จึงบอกความจริงกับคุณครู
ทำให้คุณครูลงโทษเด็กชายคนแรกเพิ่มโทษฐานโกหกด้วย

เรื่องไม่จบเพียงเท่านั้นค่ะ
เพราะพอเลิกเรียนเด็กชายคนแรกไปดักเจอเด็กหญิง แล้วต่อยหน้าเด็กหญิง
พร้อมกับต่อว่าว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเองแล้วมายุ่งทำไม

เด็กหญิงร้องไห้ตาปูดกลับบ้าน เล่าให้แม่ฟัง แม่ก็บอกว่า
"แล้วไปยุ่งเรื่องคนอื่นทำไม วันหลังอย่าไปยุ่งกับเรื่องคนอื่นอีกนะลูก"
พร้อมกับทำแผลให้ลูกไปด้วย

แล้วคุณคิดว่าเด็กหญิงคนนี้จะเป็นอย่างไร..!!

ก็ในเมื่อเธอเชื่อว่าสิ่งที่เธอทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
คือการพูดความจริง แต่ผลของการพูดความจริงกลับทำให้เธอเจ็บตัว
หนำซ้ำยังโดนคุณแม่ต่อว่าอีกต่างหาก แล้วครั้งต่อไปเล่า ?

เธอคงไม่อยากยุ่งเรื่องของคนอื่น และไม่กล้าที่จะพูดความจริง
แม้จะเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตาก็ตาม กระนั้นหรือ...!

แล้วถ้าคุณเป็นพ่อแม่ของเด็กหญิงคนนี้ล่ะ คุณจะทำอย่างไร ?

คุณหมอวิทยา พูดถึงประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า
คนเป็นพ่อแม่ต้องมีการจัดการที่ดี

กรณีถ้าเป็นพ่อแม่ของเด็กหญิง

ต้องพูดคุยกับลูกว่าหนูกล้าหาญมาก เป็นคนดี
และไม่ดูดายเมื่อได้เห็นเหตุการณ์และไม่ยอมกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้ คือการรู้จักว่าจะบอกคุณครูอย่างไร
ที่จะไม่ถูกทำร้ายด้วย เช่น แอบไปบอกคุณครูก็เป็นหนทางหนึ่ง
รวมถึงการหลีกเลี่ยงที่จะเจอกับเด็กชายคนแรก

สิ่ง ที่คนเป็นพ่อแม่ควรทำ ก็คือ อย่าต่อว่าลูก
เพราะนอกจากลูกเจ็บตัวแล้ว เขายังเสียใจที่ถูกคุณพ่อคุณแม่ตำหนิอีกด้วย
ทั้งที่สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
และอาจจะเป็นการหล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นไปแบบสนใจแต่ตัวเอง
หรือกลายเป็นเด็กเห็นแก่ตัวไปซะ
ในทางกลับกันควรชื่นชมและให้กำลังใจในการทำดี

กรณีถ้าเป็นพ่อแม่ของเด็กชายคนแรก

น่ากังวลไม่น้อย เพราะเด็กที่มีพฤติกรรมเกเร ทำกระจกแตก
แล้วก็ใส่ร้ายเพื่อน หนำซ้ำยังต่อยเพื่อนผู้หญิงด้วย
แสดงว่าโดยพื้นนิสัยเป็นเด็กเกเรทีเดียว
และเด็กส่วนใหญ่ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว มักจะมีปัญหาทางด้านครอบครัว
ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เด็กประเภทนี้
คนเป็นพ่อแม่และผู้ใกล้ชิดเด็กต้องใช้พลังมากกว่าปกติ
และอย่าใช้ความรุนแรงกับเด็กประเภทนี้โต้ตอบ
เพราะจะทำให้เขามีทัศนคติจะไม่ทำสิ่งที่ดีอีกต่อไป
เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไร เขาก็จะคิดว่า ก็จะต้องถูกตำหนิอยู่แล้ว

สิ่ง ที่คนเป็นพ่อแม่ควรทำ ก็คือ พูดคุยด้วยเหตุผล
หรือถ้าเด็กประเภทนี้ไม่ได้ใกล้ชิดพ่อแม่
ก็ต้องให้ผู้ที่ใกล้ชิดให้ความรักกับเด็กประเภทนี้มากๆ เพราะเด็กขาดรัก
ถ้าเขาได้รับความรัก หรือวางใจใครแล้ว เขาจะเชื่อฟัง และจะพยายามปรับตัว
เด็กประเภทนี้ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ โดยอาจจะชี้ให้เห็นว่า
ถ้าหนูเป็นแบบนี้ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร
และยกตัวอย่างสิ่งเกิดขึ้นกับเด็กที่ทำตัวแบบนี้
สุดท้ายในอนาคตจะเป็นอย่างไร

กรณีถ้าเป็นพ่อแม่ของเด็กชายคนที่สอง

ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เพราะเด็กชายประเภทนี้จะเรียบร้อย
เก็บตัว ถ้าเขาถูกกระทำ
และเห็นว่ามีเพื่อนพูดความจริงเป็นคนดีก็ถูกกระทำไปด้วย
เขาอาจกลายเป็นเด็กกลัวสังคมไปเลยก็ได้

สิ่ง ที่พ่อแม่ควรทำ ก็คือ อธิบายให้เขาเข้าใจว่า
อาจมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ ลูกไม่ตอบโต้น่ะดีแล้ว
แต่ลูกก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้ด้วย
หรือไม่อย่างนั้นลูกก็ต้องบอกความจริงกับคุณครู เพราะถ้าลูกกลัวเพื่อน
เพื่อนก็จะรู้จุดอ่อนข้อนี้ ก็อาจจะต้องถูกเพื่อนรังแกตลอดไป
รวมถึงให้ไปขอบคุณเด็กหญิงที่พูดความจริง เพราะช่วยปกป้องเขาเอาไว้
ซึ่งควรเอาเป็นแบบอย่าง ทั้งที่เป็นเด็กผู้หญิงก็มีความกล้าหาญ

แล้วเด็กทั้งสามคนนี้จะเติบโตขึ้นไปเป็นอย่างไร
ก็อยู่ที่พ่อแม่ของพวกเขาแล้วล่ะค่ะ

นอกจากนี้
คุณหมอวิทยายังพูดถึงพฤติกรรมของเด็กเมื่อถูกกระทำจะมีทางออกที่เลือกอยู่
3 ประการ

หนึ่ง - เป็นบวก สามารถหลบเลี่ยงจากการถูกทำร้ายได้
สามารถทำให้เด็กนิ่งได้ ไม่ตอบโต้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยอมให้ถูกกระทำฝ่ายเดียว

สอง - เป็นศูนย์ ไม่อยากมีเรื่อง เลือกที่จะอยู่นิ่งได้

สาม - เป็นลบ ก็คือการชกกลับ ประเภทตาต่อตา ฟันต่อฟัน

พ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะให้ลูกมีทางเลือกในสถานการณ์ที่เหมาะสม
ไม่จำเป็นต้องเลือกข้อใดข้อหนึ่งตลอด
แต่บางสถานการณ์ก็เลือกข้อใดข้อหนึ่งต่างจากอีกสถานการณ์ก็ได้
เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องสอนให้เขาได้เรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ได้ โดยอาศัยเรื่องธรรมเข้ามาอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดีด้วย

เชื่อ เถอะค่ะ หลายเรื่องในชีวิตประจำวันของเรา
สามารถสอดแทรกเรื่องราวการทำความดี หรือการสอนเรื่องธรรมให้กับลูกได้
โดยเลือกผ่านสถานการณ์จริงในชีวิตนี่แหละค่ะ

แต่อย่าลืมเริ่มต้นที่ตัวเราก่อนนะคะ

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000076681

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น