++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

รู้จักจานชามเซรามิก

สวัสดีค่ะ อาทิตย์นี้มาพูดกันเรื่อง ถ้วยโถ โอชามเซรามิกกันดีกว่าค่ะ
หลายคนมีจานชามเซรามิกอยู่ในบ้าน แต่เคยสังเกตกันบ้างไหมคะ ทำไมบางชิ้น
ราคาทู้กถูก บางชิ้นราคาอภิมหาแพง แค่ถ้วยกาแฟกับจานรองชิ้นเดียว
ราคาเป็นพันบาท แพงอะไรขนาดนั้น...เขาใช้อะไรเป็นเกณฑ์ ในการตั้งราคา

อันดับแรกที่รู้กัน แพงเพราะยี่ห้อดัง เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
เรื่องยี่ห้อดังแล้วแพง "แม่ทองต่อ" ไม่ขอเถียง
แต่ที่อ้างว่าแพงเพราะนำเข้าจากต่างประเทศนี่ ขอเถียงคอเป็นเอ็นค่ะ
ก็มีหลายยี่ห้อดังผลิตในบ้านเรานี่เอง แต่ปั๊มตราเป็นของนอก
ปั้นราคาแพงให้สมกับเป็นสินค้า
ยี่ห้อดังเท่านั้นเอง...ส่วนจะเป็นยี่ห้ออะไร คงต้องไปสอบถามกันเอาเองค่ะ
ถ้วยชามเซรามิก ราคาจะถูกจะแพง ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีผลิตเป็นหลักค่ะ
และที่ผลิตออกมาวางขายในตลาด ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต
ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) บอกว่ามีทั้งสิ้น
4 แบบ

แบบแรกเรียกว่า "สโตนแวร์"
ถ้วยชามเซรามิกประเภทนี้สังเกตง่ายจะหนาและหนัก
ตัวเนื้อดินเซรามิกเผาออกมาแล้วจะมีสีขาวอมเหลือง หรือสีครีม
แต่ถ้าเขาทำออกมา มีหลายสารพัดสี
ก็ให้ลองคว่ำจานชามดูขอบวงที่จะต้องวางสัมผัสกับโต๊ะ
ตรงส่วนที่ไม่มีสารเคลือบผิว เราจะเห็นเนื้อแท้ของเซรามิก...เป็นสีครีม
เซรามิกเกรดนี้ราคาจะถูก เพราะวิธีการผลิตไม่ยาก ใช้วิธีเผาแบบธรรมดา
อุณหภูมิเผาก็ไม่มาก ประมาณ 1,100 องศาโดยประมาณ
ถึงสโตนแวร์จะหนาหนักและราคาถูก แต่พวกฝรั่งเขานิยมใช้ค่ะ
เพราะมันสามารถนำเข้า เครื่องล้างจานได้โดยไม่แตกหักง่าย...
ก็มันหนากว่าอึดกว่าถ้วยชามเซรามิกราคาแพง เกรดที่แพงขึ้นมาหน่อย
เรียกว่า "พอร์ซเลน" หลายคนคงคุ้นชื่อนี้ เซรามิกเกรดนี้
ราคาจะแพงกว่าแบบสโตนแวร์ประมาณ 40% จะถูกแพงมากน้อยกว่านี้
ขึ้นอยู่กับยี่ห้อแล้วค่ะ แพงกว่าเพราะวิธีเผายากกว่า
ต้องเผาในบรรยากาศที่มีออกซิเจนน้อย และต้องใช้อุณห-ภูมิสูงขึ้นถึง 1,250
องศา ถ้วยชามพอร์ซเลน สังเกตความแตกต่างได้คือ จะบางเบากว่าสโตนแวร์
เนื้อ แท้ของเซรามิกที่เผาเสร็จจะมีสีขาวอมฟ้า
และถ้ายกถ้วยชามส่องกับแสงไฟ แล้วเอานิ้วมือไปวางไว้บนถ้วยชาม
จะเห็นเงานิ้วมือเรา พอสมควร วิธีผลิตยากกว่า สวยงามกว่า
ราคามันถึงได้แพง แต่ยังไม่แพงเท่าเซรามิกเกรดแพงที่สุด "โบนไชน่า"
ถ้วยชามประเภทนี้ไม่ได้ทำจากดินค่ะ
แต่ทำจากกระดูกสัตว์ที่เอามาเผาให้เป็นผง แล้วถึงจะเอามาปั้นเป็นถ้วยชาม
แล้วเอาเข้าเตาเผาอีกที
ราคาเลยแพงหูฉี่จนไม่น่าจับ...แพงกว่าแบบพอร์ซเลนเท่าตัว
เรื่องคุณภาพความงามและบางเบา ไม่ต้องพูดถึง
เอานิ้ววางบนถ้วยชามไปส่องกับแสงไฟ
จะเห็นเงานิ้วมือเป็นสีแดงชัดเจนกว่าถ้วยชามพอร์ซเลน
ที่ส่องไปแล้วเห็นเงานิ้วเป็นสีดำ แต่ก็ยังมีถ้วยชามอีกแบบเรียกว่า
"เอิร์ธแวร์" เป็นเซรามิกเกรดต่ำสุด เผาด้วยอุณหภูมิต่ำแค่ 800 องศา
สีจะเหมือนอิฐเผา คุณภาพจะไม่ดีเท่าไร ราคาจะถูกที่สุด
ส่วนรูปทรงสีสันใครจะชอบว่ามันดูเป็นศิลป์ดี จะซื้อหาก็ไม่ว่ากัน
แต่ถ้าจะซื้อมาใช้ใส่กับ ข้าวกับปลา ดร.ชุติมา ไม่แนะนำค่ะ
ถ้วยชามประเภทนี้เหมาะจะไว้โชว์มากกว่า
จะเลือกซื้อถ้วยชามแบบไหนให้เหมาะกับการใช้งาน

แนะนำให้รู้จักกันไปแล้ว จานชาม เซรามิก มีกี่แบบ เซรามิกเนื้อ
"โบนไชน่า" ทำจากกระดูกสัตว์ ราคาแพงสุด ถ้วยชามเซรามิก "พอร์ซเลน"
ราคาถูกต่ำลงมาครึ่งหนึ่ง เซรามิก "สโตนแวร์" ทั้งหนาและหนัก ราคาถูก
กว่าพอร์ซเลนลงมาอีกเกือบครึ่ง ส่วนเซรามิกเกรด เอิร์ธแวร์ สีอิฐเผา
คงไม่ ต้องพูดถึง ไม่แนะนำให้ซื้อมาใช้ใส่อาหาร เป็น
เพราะอะไรจะเล่าให้ฟังคราวหน้าค่ะ

อาทิตย์นี้มาว่ากันต่อ จะเลือกซื้อเซรามิกมาไว้คู่ครัว
มีเทคนิคให้เลือกดูตรงไหน หลังจากตัดสินใจ
ได้แล้วว่าเรามีงบประ-มาณอยู่เท่าไร มีความ สามารถที่จะ
ซื้อจานชามเซรามิกเกรดไหนได้ สิ่งแรกที่จะต้องตรวจดู ดร.ชุติมา
เอี่ยมโชติชวลิต ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แนะนำ...
ให้ดูสีสันลวดลายของถ้วยจานชาม
ลองเอามือลูบคลำลวดลายให้รู้ว่าลวดลายนั้นทำขึ้นก่อนเผาเคลือบผิวหรือหลังเผาเคลือบผิว
ลูบคลำไปแล้วรู้สึกลื่นๆ ไม่สากมือ
แสดงว่าลวดลายนั้นทำขึ้นก่อนเผาเคลือบผิว แต่ถ้าลูบไปแล้วรู้สึกสากมือ
มองดูให้แน่ ลวดลายอยู่บนผิวเคลือบหรือใต้ผิวเคลือบ
ลวดลายอยู่ใต้ผิวเคลือบไม่เป็นไร...ไม่มีปัญหา
แต่ถ้าลวดลายอยู่บนผิวเคลือบ ต้องพิจารณาให้จงหนัก...คุณจะซื้อจานชาม
เซรามิกไปทำอะไร ถ้าซื้อไปใช้งาน ใส่กับข้าวกับปลา ใส่พวกแกงร้อนๆ
อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด อย่างแกงเหลือง แกงส้ม ต้มยำ
รวมทั้งใส่ข้าวให้เรากิน
ให้เลือกจานชามที่ลวดลายอยู่ภายนอกหรือริมขอบจานชาม อย่า!
เลือกจานชามที่มีลวดลายอยู่ก้นถ้วยชาม
เพื่ออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะได้ไม่ไปสัมผัสลวดลาย...ก็ลวดลายพวกนั้นมีสารเคมีอันตราย
ต่อสุขภาพผสมอยู่ค่ะ เพราะถ้าน้ำแกงไปกัดสีสันของลวดลายให้ละลายออกมา
เท่ากับว่าเราได้บริโภค สารตะกั่วและแคดเมียมเป็นของแถมค่ะ
ยิ่งลวดลายสีแดง สีส้ม ด้วยแล้ว ดร. ชุติมา
บอกว่ายิ่งอันตรายใหญ่...มีปริมาณสารตะกั่ว และแคดเมียมมากกว่าสีอื่นค่ะ
แต่ถ้าคุณยังยืนยันที่จะซื้อให้ได้ เพราะชอบลวดลายของสีอันตรายเหล่านั้น
จะซื้อมาโชว์ก็ไม่ เป็นไร...ไม่ว่ากัน แต่ถ้าจะซื้อมาใส่พวกอาหารก็ใส่ได้
แต่ต้องเป็นพวกอาหารแห้ง
และต้องแห้งจริงๆเท่านั้น...แห้งแบบมีน้ำมันก็ไม่เหมาะเหมือนกันค่ะ
ถ้วยชามเซรามิกอีกอย่าง ที่สวยมากๆ และเราอยากจะซื้อใจจะขาด
ก็จงถามคนขายให้แน่ว่า ถ้วยชามพวกนั้นทำมาเพื่อใช้งานหรือไว้โชว์
จานชามที่มีสีสันมันวาวมากๆ
มันเป็นเลื่อมทอประกายสายรุ้งคล้ายเปลือกหอยมุก
จานชามเหล่านี้ส่วนมากเขาจะผลิตมาเพื่อโชว์ เพื่อความโก้เก๋เท่อวดบารมี
ไม่ได้ทำขึ้นมาใช้ งาน...ซื้อมาแล้วก็ให้มันอยู่ในตู้โชว์ไป
อย่าดันทุรังเอามาใส่อาหารโชว์แขกเลย...สีเคลือบมันวาวประกายรุ้งนั่นเคลือบ
สารตะกั่วล้วนๆ ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น