++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สมการ"ลูกช้างขึ้นดอย" เหนื่อย+สนุก=สนิท

สมการ"ลูกช้างขึ้นดอย" เหนื่อย+สนุก=สนิท

หากจะเอ่ยถึงประเพณีที่อยู่มหาวิทยาลัย
เชียงใหม่(มช.)มาเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปี อย่าง "ลูกช้างขึ้นดอย" หรือ
"รับน้องขึ้นดอย"
ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้รุ่นพี่และรุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเดินทางร่วมกัน
จากหน้ามหาวิทยาลัย มุ่งหน้าสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ
จนถือเป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นเอกลักษณ์ที่ดีงาม
อีกทั้งยังเป็นกุศโลบายอันจะทำให้นักศึกษาเกิดความรักใคร่กลมเกลียวเป็นอัน
หนึ่งอันเดียวกันระหว่างเพื่อน พี่ และน้อง

ประเพณี "ลูกช้างขึ้นดอย" เริ่มมีมาตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยในปี
พ.ศ.2507 มี นักศึกษาอยู่เพียง 290 คนเท่านั้น
จนกระทั่งปัจจุบันมีนักศึกษามากกว่า 10,000 คน ทำให้ประเพณี
"ลูกช้างขึ้นดอย"
เป็นหนึ่งกิจกรรมรับน้องอันสร้างความภูมิใจดั่งเป็นลูกหลานชาวเชียงใหม่
ภาคที่ได้มาศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดี มช.เล่าว่า
ตลอดระยะทางกว่า 14 กิโลเมตรที่ลูกช้าง
มช.ได้ร่วมก้าวเดินจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แสดงให้เห็นถึงความรักและความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาว
มช. เพื่อร่วมกันประกอบพิธีสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพ
พร้อมรับโอวาทจากพระเถระผู้ใหญ่
และปฏิญาณตนเป็นนักศึกษาที่ดีและพลเมืองดีของประเทศ

"ใน ปีนี้ครบรอบ 45 ปีแล้ว แต่ภาพบรรยากาศ ความรัก
ความผูกพันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องที่ช่วยเหลือกันและกันยังคงมีให้เห็น
เหมือนเดิม อันนำมาสู่มิตรภาพดีๆ
และเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำสำหรับนักศึกษาทุกๆ คน"

ทั้งนี้ การเดินเท้าขึ้นดอยสุเทพนั้น จะประกอบด้วย เครื่องสักการะ
เสลี่ยงเครื่องสักการะ อันได้แก่ หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นดอก
ต้นเทียน พุ่มโพธิ์เงิน และโพธิ์ทอง
นอกจากนี้ริ้วขบวนนักศึกษาก็ยังคงสร้างสีสันได้เป็นประจำทุกปี
ด้วยการพร้อมใจกันสวมเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวเชียงใหม่ได้
อย่างเต็มตัว ซึ่งแต่ละคณะจะแต่งตัวแตกต่างกันออกไป อาจเป็นชุดพื้นเมือง
ภาคเหนือ หรือชุดประจำคณะก็ได้
โดยของที่นำขึ้นไปนมัสการพระธาตุก็จะนำมาประกอบในขบวนด้วยเช่นกัน

"เนติ์" เขมชาติ ตนบุญ นายกสโมสรนักศึกษา มช. เล่าว่า
กิจกรรมลูกช้างขึ้นดอย ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาและ
ยังคงเอกลักษณ์ความยิ่งใหญ่ สวยงาม
และอนุรักษ์ศิลปะประเพณีดั้งเดิมของชาวล้านนา

"ลูกช้างซึ่งเป็นการเรียกขานนักศึกษาของ ม.เชียงใหม่
ตามสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่เป็นรูปช้างชูคบเพลิง แต่ละคณะ
แต่ละชั้นปีจะมาร่วมเข้าประเพณีนี้
โดยเฉพาะลูกช้างเชือกใหม่ที่มาจากทั่วสารทิศ
ได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวล้านนา
เริ่มตั้งแต่การแต่งกายแบบชาวล้านนา ที่แต่ละคณะคิด และแสดงออก
รวมทั้งเน้นสร้างความรัก สามัคคีระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อน
เพื่อให้เกิดความรักใคร่กลมเกลียว และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ
มิตรภาพให้เกิดขึ้น
อีกทั้งยังฝึกให้ทุกคนเข้าใจในบรรยากาศของจังหวัดเชียงใหม่
เพราะตลอดเส้นทางการเดินขึ้นดอยในทุกปี
สภาพอากาศจะครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยู่เสมอ
ทำให้ทุกคนต้องเตรียมใจกันรีบขึ้นสู่ยอดดอยโดยเร็ว"

สำหรับการกำหนดลำดับคณะในการเดินขบวนไม่เหมือนกันในแต่ละปี
นักศึกษาบางคณะที่มีผู้ชายมาก เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือคณะเกษตรศาสตร์
มักจะต้องเดินนำขบวนก่อนเป็นอันดับแรกๆ

"จริงๆ แล้วมันเป็นวัฒนธรรมในองค์กรแต่ละคณะ
ซึ่งเรายอมรับว่าเหตุผลง่ายๆ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเกษตร
ได้นำทีมเปิดขบวนคือ มีพละกำลังที่มาก
อีกทั้งยังมีนักศึกษาชายเยอะกว่าคณะอื่นๆ
พร้อมกับมีหน้าที่นำเสลี่ยงขึ้นไปมนัสการพระธาตุดอยสุเทพ
ซึ่งอาจจะทำให้เห็นระบบโซตัสที่สร้างความอดทน เข้มแข็ง จากความเหนื่อยยาก
กลายเป็นมิตรภาพดีๆ และไม่มีการนำอบายมุข
สิ่งไม่ดีเข้ามายุ่งเกี่ยวกับประเพณีที่ดีงามอย่างลูกช้างขึ้นดอยเป็นแน่
เพราะหากใครละเมิดกฎระเบียบที่วางไว้ ทางมหาวิทยาลัย คณาจารย์
และสโมสรนักศึกษาคงไม่ปล่อยไว้

ดังนั้น ลูกช้างขึ้นดอยจึงถือเป็นการปิดฉากกิจกรรมรับน้องของ
มช.ที่ยิ่งใหญ่ และตรงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมรับน้องมากที่สุด"

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000079232

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น