++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อันตรายของยาสเตียรอยด์ในยาลูกกลอน

โรงพยาบาลรามาธิบดี ๗ ต.ค.-
อย.ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการรับประทานยาที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนผสม
ก่ออันตรายระยะยาวถึงขั้นเสียชีวิต เตือนอย่าหลงเชื่อกินยาชุด ยาแผนโบราณ
ยาสมุนไพรที่อ้างสรรพคุณครอบจักรวาล โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อย
กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไซนัส ภูมิแพ้
ผู้ที่รับประทานยาผสมสเตียรอยด์มักมีใบหน้ากลมอ้วนเหมือนดวงจันทร์
ไขมันเกาะต้นคอจนขึ้นหนอก ลำตัวอวบอ้วนผิดส่วนเหมือนถังเบียร์
ผิวหนังมีรอยแตก ส่งผลต่อสุขภาพถึงขั้นตายได้

น.พ.ณรงค์ ฉายากุล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า
มีการนำยาสเตียรอยด์มาใช้ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ทั้งในรูปของยาลูกกลอน
ยาชุดกระจายเส้น แก้เมื่อย แก้หอบหืด
การใช้ยานี้ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวถึงขั้นเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม ทาง
อย.เฝ้าระวังการใช้ยาไม่เหมาะสมด้วยมาตรการทางกฎหมายมาเป็นเวลานาน
ได้ผลในระดับหนึ่งเท่านั้น ยังมีการหลบเลี่ยงขายยาผสมสเตียรอยด์
และเจ้าหน้าที่ตรวจพบอยู่เสมอ ขณะนี้มีคดีที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่หลายคดี
เชื่อว่า การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้ประชาชนมีความรู้
ตระหนักถึงอันตรายจากการใช้ยาผสมสเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสม
เกิดพฤติกรรมการใช้ยาอย่างถูกต้องมากขึ้น โดย
อย.จะประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ออกปราบปรามแหล่งจำหน่ายยาไม่มีเลขทะเบียนซึ่งมักผสมสารสเตียรอยด์
เพื่อลดแหล่งจำหน่าย
นอกจากนี้ได้ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีรณรงค์ต่อต้านการใช้ยาสเตียรอยด์ไม่เหมาะสม
โดยทางรามาธิบดีเป็นศูนย์รวมของข้อมูลวิชาการ
นำมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ พบว่า
ยาที่ผสมสเตียรอยด์มีทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ สมุนไพร เช่น
ยาลูกกลอน ฟ้าทลายโจร ยามหากำลัง
โดยพบสารเพรดนิโซโลนและเด็กซ์ซ่าเมทธาโซน

รศ.น.พ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สาเหตุหลักของการใช้ยาตัวนี้มี ๒ ประการคือ
๑.เป็นยาที่ใช้ได้ผลในการรักษาอาการแก้ปวดเมื่อย แก้หอบหืด ภูมิแพ้ไซนัส
บำรุงร่างกายกินข้าวได้ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในชุมชน
เนื่องจากโรคที่กล่าวว่าเป็นโรคเรื้อรังจึงต้องกินติดต่อกันเป็นเวลานาน
ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิต
๒.มีความเข้าใจผิดว่ายาแผนปัจจุบันมีอันตราย
แต่ยาแผนโบราณสมุนไพรใช้แล้วปลอดภัย
การแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องทำให้เกิดเป็นพลังสังคมควบคู่กับการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง
เช่นเดียวกับการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ที่สื่อร่วมกับนักวิชาการ
จากการศึกษาของโรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อ ๕ ปีก่อน มีการผลิตสารสเตียรอยด์
๕ ล้านเม็ด ร้อยละ ๙๒ ของยาที่ผลิตได้ส่งให้ร้านขายยา ส่วนที่เหลือร้อยละ
๘ แพทย์เป็นผู้สั่งใช้ ส่วนที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายนั้น
ร้านขายยานำมาขายในรูปของยาชุด ผสมในยาลูกกลอนหรือสมุนไพร
ทั้งที่ร้านขายไม่มีสิทธิ์สั่งใช้ยานี้

ศ.น.พ.รัชตะ รัชตะนาวิน หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า
สเตียรอยด์เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตได้เองจากต่อมหมวกไต
มีหน้าที่ควบคุมการใช้พลังงานในร่างกาย
ปรับสภาพร่างกายให้เผชิญกับภาวะความเครียดจากการเจ็บป่วย ติดเชื้อ
บาดเจ็บ ในทางการแพทย์ใช้เพื่อทดแทนการขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตและรักษาโรคบางโรคที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผลแล้วเช่น
โรคเอสแอลอี ลดการทำลายภูมิคุ้มกันตัวเอง ต้านการอักเสบ
อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้อย่างพร่ำเพรื่อส่งผลให้ต่อมใต้สมองไม่สั่งให้หมวกไตหลั่งฮอร์โมนสเตียรอยด์
ส่งผลให้ร่างกายขาดฮอร์โมนนี้
เมื่อมีการติดเชื้อหรือบาดเจ็บจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาสเตียรอยด์
หลังหยุดยาแล้วต่อมใต้สมองต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูเป็นปี
ขณะที่ต่อมหมวกไตใช้เวลาฟื้นฟูให้มาผลิตฮอร์โมนประมาณ ๓-๔ เดือน
ผู้ที่หยุดยากระทันหันจึงอ่อนเพลีย ไม่มีแรงและมีโรคแทรกซ้อน

อาการข้างเคียงของผู้ที่รับประทานยาเสตียรอยด์ไม่เหมาะสมจะมีใบหน้าอ้วนกลมเหมือนดวงจันทร์
ลำตัวอ้วนเหมือนถังเบียร์ ผิวหนังมีรอยแตก ภาวะความดันโลหิตตก
ภูมิคุ้มกันลดลงติดเชื้อต่าง ๆ ง่าย เกิดเบาหวาน กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ต้อระจก กระดูกพรุน เป็นแผลในกระเพาะอาหาร
ยานี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้นเพราะมีผลข้างเคียงมาก

จากการศึกษาของโรงพยาบาลรามาธิบดีในช่วง ๑ ปีระหว่างเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ -
มิถุนายน ๒๕๔๑ โดยรวบรวมผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสม
พบผู้ป่วยทั้งหมด ๔๖ ราย ในจำนวนนี้ ๒๐ รายต้องรับไว้เป็นผู้ป่วยใน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้สเตียรอยด์เนื่องจากมีอาการปวดเมื่อย
รองลงมาเพื่อรักษาอาการหอบเหนื่อย ใช้ยาเพราะเพื่อนบ้านแนะนำมากที่สุด
รองลงมาได้จากวัด คลินิกของพนักงานอนามัย ร้านขายยาแผนโบราณ

นางซิม อายุ ๖๘ ปี บ้านอยู่ย่านมีนบุรี กล่าวว่า
ได้ซื้อยาลูกกลอนมากินเป็นเวลา ๒ ปี เนื่องจากปวดเมื่อยขา ไม่สบายใจ
พอกินยาลูกกลอนแล้วอาการปวดเมื่อยหายไป กินได้นอนหลับสบายใจ
แต่เมื่อหยุดยาถึงกับช็อก
จนต้องรับการรักษาในห้องไอซียูของโรงพยาบาลรามาธิบดี
เตือนคนที่มีอาการปวดเมื่อย อย่าหลงเชื่อกินยาลูกกลอนเหมือนตน
เพราะแทนที่โรคจะหายขาด กลับต้องมาทรมานรับการรักษาฟื้นฟูสภาพร่างกายอีก
โดยคุณ :สุขใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น