++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

รักคนชั่ว กลัวคนเลว : ข้อวัตรที่ผู้นำต้องงดเว้น

โดย สามารถ มังสัง


ข้อวัตรปฏิบัติที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในระดับผู้นำควรงดเว้น
หรือหลีกเลี่ยง เรียกว่า อคติ มีอยู่ 4 ประการ คือ

1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก

2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง

3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา

4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

โดยนัยแห่งคำ อคติ หมายถึง
ฐานะอันไม่พึงถึงแนวทางความประพฤติที่ผิด ความไม่เที่ยงธรรม ความลำเอียง
และตามนัยแห่งความหมายที่ว่ามานี้เห็นได้ชัดเจนว่า
ถ้าบุคคลที่เป็นผู้นำตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งธรรม 4 ประการนี้
แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งก็จะทำให้ภาวะแห่งผู้นำถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง
ที่ควรจะเป็น

เมื่อใดก็ตามเมื่อภาวะผู้นำถูกบิดเบือน
บทบาทของผู้นำก็จะด้อยลงไปในสายตาของผู้อยู่ภายใต้การนำของบุคคลนั้น
เพราะมองเห็นความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นแก่พวกเขา

วันนี้และเวลานี้ ผู้คนในสังคมไทยกำลังจับตามองนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารประเทศไทย
และกำลังนำประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสังคม
และปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำอยู่ในขั้นวิกฤต
ด้วยความหวังที่ลดลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุปัจจัยในทางตรรกะดังต่อไปนี้

1. ในระยะเวลาเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา
ผู้คนในสังคมไทยได้พบเห็นความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งในด้านสังคม
การเมือง และเศรษฐกิจ อันเกิดจากภาวะผู้นำที่ล้มเหลว
สืบเนื่องมาจากผู้นำประเทศถูกครอบงำด้วยอคติ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ฉันทาคติ และโมหาคติ รวมไปถึงโทสาคติ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2548-2549
และมากที่สุดในช่วงปี 2551 หรือพูดง่ายๆ ก็ในยุคของรัฐบาลตัวแทน
จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่พบกับความผิดหวัง
และเกิดอาการเบื่อหน่ายทางการเมืองออกมาเรียกร้องหาผู้นำที่มีความรู้
ความสามารถในการแก้ไขปัญหาของประเทศ และที่ต้องการเห็นมากที่สุดก็คือ
ผู้นำที่มีความยุติธรรม ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งอคติ 4

2. เมื่อรัฐบาลตัวแทนสิ้นอำนาจด้วยกระบวนการทางศาลเมื่อปลายปี
2551 และมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่โดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ
และมีกลุ่มเพื่อนเนวินพร้อมด้วยพรรคเล็กพรรคน้อยอีกส่วนหนึ่งเข้าร่วมกัน
เป็นรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในทันทีที่รัฐบาลนี้เข้าทำงาน
ประชาชนส่วนใหญ่รวมไปถึงนักวิชาการต่างแสดงความนิยมชมชอบในตัวผู้นำรัฐบาล
ทั้งในแง่ของความรู้ ความสามารถ และที่สำคัญคือ คุณธรรม
ที่เกือบทุกคนเชื่อว่ามีอยู่มากกว่าผู้นำรัฐบาลในยุคของการเป็นตัวแทนกลุ่ม
อำนาจเก่าที่ถูกโค่นล้มไปเมื่อ 19 กันยายน 2549 ทุกคน
จึงได้ให้โอกาสในการทำงานอย่างเต็มที่

แต่เวลาผ่านไปได้ไม่นาน
เสียงติติงต่อภาวะผู้นำของรัฐบาลในทางลบก็เริ่มดังขึ้น
เมื่อมีการยอมอ่อนข้อให้กับกลุ่มเพื่อนเนวินมีบทบาทที่ส่อไปในทางหาประโยชน์
ด้วยแนวคิด และวิธีการมิชอบ ทั้งในแง่ของศีลธรรม
และจริยธรรมที่นักการเมืองที่ต้องการเข้ามารับใช้ประชาชนจะพึงกระทำ เช่น
มีการย้ายสายการบินไทยไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ
และโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน
ที่กำลังเป็นปัญหาให้เป็นที่กังขาของปวงชนว่าตกลงจะเช่าหรือเช่าซื้อ
หรือซื้อด้วยวิธีการไหนและอย่างไร เป็นต้น

นอกจากสองกิจกรรมที่ก่อให้เกิดข้อกังขาในภาวะผู้นำของนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ ดังกล่าวแล้ว
การจับตามองโครงการกู้เงินมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายไทยเข้มแข็ง
ก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้ทุนทางสังคมของผู้นำรัฐบาลที่เคยมีอยู่อย่างท่วมท้นลด
ลงได้ ถ้าปรากฏว่าเงินกู้ที่ว่านี้ถูกนำไปใช้ในโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์น้อย
ไม่คุ้มค่า แต่ราคาแพงเกินกว่ารับได้ เช่น ถนนปลอดฝุ่น เป็นต้น

จากเหตุปัจจัย 2 ข้อดังกล่าวข้างต้น
ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมว่ามีความขัดแย้งกับภาพ
ลักษณ์เดิมๆ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ที่แสดงออกในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในหลายๆ เรื่อง
และนี่เองน่าจะเป็นเหตุปัจจัยให้ผู้คนในสังคมศรัทธาต่อผู้นำรัฐบาลน้อยลง
เรื่อยๆ ขณะนี้

อะไรเป็นเหตุให้ผู้นำรัฐบาลที่เคยมีตัวตนเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนพบ
กับปัญหาวิกฤตศรัทธาน้อยลงในเรื่องที่เคยได้รับความเชื่อถือมาก่อนหน้านี้?

เกี่ยวกับเรื่องนี้
ผู้เขียนเชื่อว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบันตัวตนที่แท้จริงของนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป
เพียงจำเป็นต้องบิดเบือนหรือจำแลงตัวตนให้สอดคล้องหรือกลมกลืนกับภาวะแวด
ล้อมเพื่อความอยู่รอดในทางการเมืองเท่านั้น
ทั้งนี้จะเห็นได้จากเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังนี้

เมื่อครั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นฝ่ายค้าน
ได้อภิปรายแสดงความเห็นคัดค้านเรื่องบันทึกข้อตกลงที่นายนภดล ปัทมะ
ได้กระทำกับผู้นำกัมพูชาว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
และเป็นการทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน

แต่มาวันนี้ท่าทีของรัฐบาลภายใต้การนำของ
ปชป.ได้เปลี่ยนไปในทำนองเห็นด้วยกับการที่เขมรจะยื่นขอเป็นมรดกโลกต่อยูเนส
โก จะเห็นได้จากการที่รองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณไปเจรจากับเขมร
และการยอมรับให้มีการพัฒนาพื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหาร
ซึ่งเป็นการยอมรับให้การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขมรเป็นไปด้วยความถูก
ต้อง แทนที่จะคัดค้านการยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของเขมรแต่ฝ่ายเดียว
แล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยการขอขึ้นทะเบียนร่วมกับไทยเหมือนกับที่รัฐบาลไทยใน
อดีตเคยยื่นมาตลอด
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้นที่ผู้นำรัฐบาลได้แสดงท่าทีเปลี่ยนไป

ถ้า ดูให้ละเอียดถึงการยอมให้พรรคร่วมรัฐบาล
โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยมีบทบาทในการเสนอโครงการ
และเป็นผู้นำในการเลือกตั้งในภาคอีสาน 2 ครั้งที่ผ่านมาด้วย
แล้วก็เท่ากับการยอมรับบทบาทของกลุ่มเพื่อนเนวินว่ามีส่วนสำคัญในการดำรง
อยู่ของรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนี้จะแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากคำว่า
รักคนชั่ว กลัวคนเลว เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตนเอง และพรรค

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000076421

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น