++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เรื่องของนิมิต โดยหลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน

บทความนี้คงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ ที่กำลังฝึกสมาธิ
และพบเจอกับนิมิตต่างๆ อยู่ บางคนก็หลงใหลไปในนิมิตเมื่อพบนิมิตที่ดี
บ้างก็กลัวนิมิตที่เกิดขึ้นไม่กล้าปฏิบัติต่อไปเมื่อพบนิมิตที่ไม่ดีหรือ
นิมิตร้าย หรือบางคนอาจจะกำลังคิดแก้ไขเรื่องนี้อยู่
แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ท่านได้แสดงธรรมเรื่องนิมิตนี้พอประเทืองความรู้สำหรับผู้เห็นนิมิตในขณะทำ
สมาธิ

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา
ได้เทศน์แสดงธรรมที่เกี่ยวข้องกับนิมิตในเทปเรื่อง "นิมิตและวิปัสสนา"
เมื่อครั้งหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่

นักปฏิบัติบางท่านที่ติดนิมิตจน ถอนตัวไม่ขึ้น
หลับตาทำสมาธิก็ตกลงในวังวนแห่งภาพต่างๆที่ปรุงแต่งขึ้นในห้วงสมาธิจริงบ้าง
ปลอมบ้าง แล้วแต่สภาพของสังขารปรุงแต่งหรือญาณกำเนิด
ครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานจึงเตือนผู้ปฏิบัติชั้นหลังมาทุกยุคทุกสมัย
ในเรื่องนิมิตและความสุขในสมาธิ

นักปฏิบัติธรรมบางท่านก็หลงใหล ได้ปลื้มกับนิมิต
หรือให้ความสำคัญกับผู้รู้เห็นนิมิตว่าเป็นผู้วิเศษเลิศเลอ
ภาพในนิมิตที่ปรากฏและถูกต้องนั้นมีเพียงเล็กน้อย
นอกนั้นเกิดจากสังขารปรุงแต่งเสียเป็นส่วนใหญ่ทั้งนิมิตที่ปรากฏขึ้นเองและ
นิมิตที่กำหนด

จิตเมื่อเข้าสู่สมาธิอ่อนๆ ก็มีนิมิตจางๆ แล้วค่อยๆ
ชัดขึ้นเมื่อสมาธิสงบจนกระทั่งชัดที่สุด
ทุกครั้งที่ปรากฏนิมิตต้องใช้ปัญญาอบรมจิตควบคู่กันไปด้วย
(เพราะนิมิตที่ปรากฏอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์)
แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในนิมิต เพื่อพัฒนาการจิตในระดับต่อไป
ก็จะออกมาในอีกหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นปิติในลักษณะต่างๆ
รวมทั้งความรู้สึกหลากหลายของความสงบก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับ
ทั้งนี้ต้องใช้ไตรลักษณ์เป็นหัวข้อธรรมใหญ่ในการพิจารณาองค์ประกอบของสมาธิ
ทุกรูปแบบก็ว่าได้

เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติทั้งหลายพึงสังวรระวัง เกี่ยวกับเรื่องนิมิตต่างๆ
ถ้าท่านภาวนาแล้วเกิดนิมิตต่างๆ ขึ้นมา
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มักเกิดขึ้นเพราะอุปาทานที่ท่านคิดว่าอยากรู้อยากเห็น
ระดับจิตที่สงบลงเป็นสมาธิในขั้นอุปจารสมาธินั้น
ถ้าจิตมันปรุงแต่งอะไรขึ้นมาในขณะนั้นมันจะกลายเป็นตัวเป็นตนไปหมด
เพราะสิ่งที่มองเห็นนั้นรู้สึกมองเห็นด้วยตาธรรมดา
ตาท่านหลับอยู่แต่ท่านก็มองเห็นได้
ทำไมจึงมองเห็นได้ก็เพราะจิตท่านเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง
อันนี้พึงสังวร

ในเมื่อเหตุการณ์ที่กล่าวนี้เกิดมาแล้วควรจะปฏิบัติต่อนิมิตทั้งหลายเหล่านี้อย่างไร

๑. ท่านอย่าไปเอะใจ อย่าไปตื่นในการที่ได้พบเห็น
ให้ประคองจิตอยู่ในท่าทีที่สงบเป็นปกติ

๒. อย่าไปยึดว่าสิ่งนั้นเป็นจริง ถ้าจริงมันจะสงสัย

สมาธิ อ่อนๆ กระแสจิตส่งออกไปข้างนอกให้ประคองจิตให้เป็นสมาธิไว้นานๆ
ภาพนิมิตนั้นจะอยู่ให้ท่านชม
บางทีท่านอาจจะนึกว่าภาพนิมิตที่มองเห็นนั้นเป็นสิ่งที่สนุกเพลิดเพลิน
สนุกยิ่งกว่าไปดูหนัง อันนี้แล้วแต่มันจะเป็นไปตามอำนาจกิเลสของใคร

แต่ถ้าผู้เห็นนิมิตนั้นเคยมีสมาธิดีมีปัญญาดีอาจจะจับเอานิมิตนั้นเป็นเครื่องรู้ของ
จิต เป็นเครื่องระลึกของสติพิจารณาเป็นกรรมฐานในแง่ของวิปัสสนาเลย
กำหนดหมายว่านิมิตนี้ก็ไม่เที่ยง
เกิดขึ้นแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่เสมอ
ถ้าท่านสามารถกำหนดพิจารณาได้อย่างนี้ ท่านก็จะได้ความรู้ในแง่วิปัสสนา

เรื่อง นิมิตต่างๆ นี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายโดยถ่ายเดียว
เป็นสิ่งที่ให้ทั้งคุณเป็นสิ่งที่ให้ทั้งโทษ
ถ้าผู้ปฏิบัติกำหนดหมายเอานิมิตเป็นเครื่องรู้ของจิต
เป็นเครื่องระลึกของสติ
เป็นอารมณ์ที่จะน้อมนึกพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานหรือสมถะกรรมฐานก็แล้วแต่
ย่อมได้ประโยชน์สำหรับผู้มีสติปัญญา สามารถรู้เท่าทันนิมิตนั้นๆ

แต่ ถ้าผู้หลงว่าเป็นจริงเป็นจัง จิตอาจจะไปติดนิมิตนั้นๆ
ชอบอกชอบใจในนิมิตนั้นๆ บางทีก็จะไปเที่ยวกับนิมิตนั้น
ฝากเอาไว้ให้นักปฏิบัติได้โปรดพิจารณาเอาเอง
เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นทางผ่านของผู้บำเพ็ญจิต
แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกับนิมิตต่างๆ ซึ่งเกิดจากการพิจารณากรรมฐาน
โดยยกเอากายของเราเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ
จะน้อมนึกไปในแง่ไม่สวยงามก็ตาม จะน้อมนึกไปว่ากายเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม
ไฟ ก็ตาม

ในเมื่อจิตสงบลงแล้ว ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานหรือในธาตุกรรมฐาน
จนมองเห็นอสุภกรรมฐานว่าร่างกายนี้เป็นของสกปรก เป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อย
น่าเกลียดผุพังสลายตัวไปจนไม่มีอะไรเหลือ
ยังเหลือแต่สภาพจิตที่ยังสงบนิ่ง ใส บริสุทธิ์ สะอาด
สิ่งที่รู้เห็นทั้งหลายหายหมดไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ

แต่เมื่อจิตถอนออกมาจากความเป็นสภาพ เช่นนั้นแล้ว
มาสู่ปกติธรรมดาร่างกายที่มองเห็นว่าสาบสูญหายไปนั้นก็ยังปรากฏอยู่
จะปรากฏว่าสูญหายไปหรือปฏิกูลเฉพาะในขณะที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่รู้เห็นอันนี้เป็นเพียงนิมิต
ซึ่งหลักของการปฏิบัติสมถะกรรมฐาน
เมื่อจิตเพ่งจดจ่ออยู่ในสิ่งที่รู้แน่วแน่ นิมิตย่อมเกิดขึ้น

อันดับ แรกเรียกว่า "อุคคหนิมิต" ในอันดับต่อไปเรียกว่า "ปฏิภาคนิมิต"
อุคคหนิมิตจิตจดจ่อรู้ในสิ่งๆ เดียวอย่างแน่วแน่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นิมิตนั้นก็อยู่ในสภาพปกติ จิตก็อยู่ในสภาพปกติ
แต่รู้เห็นกันอย่างติดหูติดตา หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น อันนี้เรียกว่า
"อุคคหนิมิต"

ทีนี้ถ้าหากว่าจิตสามารถปฏิวัติความเปลี่ยนแปลงของ นิมิต
ให้มีอันเป็นไปต่างๆขยายให้ใหญ่โตขึ้นหรือย่อให้เล็กลง
หรือถึงขนาดสลายตัวไปไม่มีอะไรเหลือ จิตก็ก้าวขึ้นสู่ภูมิของ
"ปฏิภาคนิมิต"

ถ้าหากว่านิมิตมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่อย่าง นั้น
ถ้าจิตสำคัญมั่นหมายในการเปลี่ยนแปลงของนิมิต โดยกำหนดอนิจจสัญญา
คือความจำหมายว่าไม่เที่ยง เข้ามาแทรกความรู้เห็นในขณะนั้นโดยอัตโนมัติ
จิตของท่านจะกลายเป็นการเดินภูมิวิปัสสนากรรมฐาน
และนิมิตที่ปรากฏนั้นก็ปรากฏในขณะที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น

ในขั้น นี้เรื่องราวหรือนิมิตอะไรที่พึงเกิดขึ้นภายในจิตของผู้ปฏิบัติอยู่ก็ตาม
ให้สังวรระวังรักษาความรู้สึกนึกคิดเอาไว้ว่า
สิ่งนี้คือจิตของเราปรุงแต่งขึ้นในขณะที่จิตของเรามีสมาธิ
เอาความรู้สึกอันนี้มาสกัดกั้นเอาไว้ก่อน
เพื่อป้องกันไม่ให้จิตของเราหลงหรือรู้ผิด
นี่คือหลักการปฏิบัติที่เราพึงสังวรระวัง

นั้นเป็นคำสอนของพระเดช พระคุณหลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่งวัดป่าสาลวัน
ที่ผู้พิมพ์ได้ย่นย่อใจความจากหนังสือที่เขาเขียนถอดมาจากเทปของหลวงพ่อพุธ
ฐานิโย มาให้ได้อ่านกันพอเข้าใจ และขอยกเรื่อง
ที่หลวงพ่อพุธตอบปัญหาคำถามเรื่องนิมิตที่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวฯ
ทรงถามหลวงพ่อมาให้ได้อ่านเพิ่มความเข้าใจในเรื่องนิมิตอีกหน่อย

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๕ หลวงพ่อพุธเดินทางจากวัดป่าสาลวัน เพื่อไปเข้าเฝ้า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่พระราชวังไกลกังวล
ท่านมีรับสั่งนิมนต์หลวงพ่อพุธไปแสดงธรรมโดยเฉพาะ

พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวฯ :
นิมิตมีหลายอย่างบางอย่างแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
อย่างหนึ่งและอีกอย่างหนึ่งก็ให้เห็นเหมือนฝัน
และอีกอย่างหนึ่งก็แสดงให้เห็นเหมือนทิพย์ เป็นนิมิตความหมาย
ขอท่านอาจารย์ได้อธิบายให้ฟัง

หลวงพ่อพุธ : นิมิตก็มีความหมายตรงตัวอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องรู้ของจิต
นิมิตจะเกิดขึ้นได้ในจิตสมาธิ เช่นผู้ภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ
เมื่อจิตมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปจิตสงบสว่าง กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก
แล้วก็เกิดขึ้นมาในลักษณะต่างๆ เช่น ภาพคน ภูตผี ปีศาจ เทวดา

และ อีกอย่างหนึ่งในการพิจารณาอสุภกรรมฐานหรือธาตุกรรมฐาน
ในขั้นต้นผู้ปฏิบัติอาศัยการน้อมนึกพิจารณาน้อมไปสู่การเป็นอสุภกรรมฐาน
ความไม่สวยไม่งามน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย น้อมไปสู่ความเป็นธาตุ ๔ ดิน
น้ำ ลม ไฟ คือเป็นองค์ประชุมของธาตุ ๔ ด้วย

ความตั้งใจก็ดีเมื่อ จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว
จิตอยู่ในระดับอุปจารสมาธิก็จะเกิดนิมิตภายนอกขึ้นมา
เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาดูนิมิตภายนอกกาย
นิมิตภายนอกกายจะย้อนกลับเข้ามาภายใน หมายถึงจิตนั้นน้อมเข้ามาภายในกาย
ในขณะที่จิตรู้อยู่ภายในตัวนั้น จิตจะมีลักษณะตั้งอยู่ระหว่างกลางของกาย
แล้วจิตจะไปรู้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งภายในกาย

เมื่อจิตมองดูสิ่ง ที่รู้เห็นอยู่ภายในกายนั้น
จิตจะพิจารณากายต่อไปจนกระทั่งจิตละเอียดลงไปจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ
เมื่อจิตถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว จิตจะมีลักษณะคล้ายๆ
กับถอนตัวออกจากร่างกายแล้วจิตจะมาลอยเด่นอยู่
แล้วจิตจะย้อนกลับไปมองดูกายเดิม

ในเมื่อจิตย้อนกลับไปมองดูกาย เดิม
จิตก็มองเห็นกายในลักษณะที่นั่งหรือนอนอยู่ก็ตาม
แล้วกายนั้นจะแสดงอาการขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง สลายไป
ในที่สุดก็ยังเหลือแต่โครงกระดูก ก็หลุดออกไปเป็นชิ้นๆ
และแตกหักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่
ในที่สุดกระดูกก็หลุดละเอียดลงไปและหายไปในที่สุด

อันนี้เป็นนิมิต ซึ่งเกิดขึ้นในจิตโดยปราศจากสัญญาใดๆ ที่น้อมนึก
นิมิตอันนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต ในขณะที่จิตมองเห็นนั้น
จิตยังไม่บอกว่าเป็นอะไรเรียกว่าอะไร
คือเมื่อกายที่จิตมองเห็นนั้นมีอาการต่างๆ ผิดแปลก เช่นขึ้นอืด
เน่าเปื่อย ผุพังลงไปดังที่ได้บรรยายมานั้น
อันนี้จิตอยู่ในขั้นปฏิภาคนิมิต เป็นอุบายฝึกฝนอบรมจิตในขั้นสมถะ

เมื่อจิตมองดูนิมิตนั้นนิมิตนั้น อาจจะหายไป เมื่อนิมิตนั้นหายไป
ก็ยังเหลือแต่สภาวะจิต ผู้รู้ นิ่ง สดใส สว่างชั่วขณะหนึ่ง
ก็จะเกิดภูมิรู้ขึ้นภายในจิต คือมีแต่เกิดขึ้น ดับไป อยู่ภายในจิต
จิตของผู้ปฏิบัติก็จะจดจ้องมองดูจิตที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
โดยปราศจากเจตนาสัญญาใดๆ ทั้งนั้น

สิ่งที่มองเห็นนั้นเรียกว่าอะไร เรียกไม่ถูก
ไม่มีความหมายในสมมติบัญญัติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธัมมจักกัปวัตนสูตร
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา

สิ่งใดสิ่งหนึ่งในที่นี้หมาย ถึงอะไร จะเรียกชื่อตามสมมติบัญญัติไม่ถูก
พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
อันนี้เป็นความรู้ของจิตที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติธรรมขั้นสูง

ถ้าหากว่าจิตมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป
เกิดขึ้นดับไปแล้วก็ถอนออกมาจากสภาวะรู้อย่างนั้นจิตของผู้ปฏิบัติดีในขั้นนี้ก็เรียกว่าจิตอยู่ในขั้นสมถะกรรมฐาน

แต่ ถ้าหากสิ่งที่จิตมองดูนั้นเกิดอนิจสัญญาความสำคัญมั่นหมายว่า
สิ่งที่รู้เห็นนั้นเป็นของไม่เที่ยงแล้วก็เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จิตของผู้ปฏิบัติก็จะวิ่งเข้าสู่ภูมิวิปัสสนา

ในขณะที่จิตรู้อย่าง นั้น ไม่มีอะไรปรากฏ คือมีแต่จิตผู้รู้นิ่งเด่นอยู่
และสิ่งที่ผู้รู้ก็ปรากฏอยู่ คือจิตกับความรู้ที่เกิดขึ้นภายในจิต
และมีสติตามรู้จิตคือสิ่งรู้อันนั้น
อันนี้เรียกว่าการปฏิบัติอยู่ในภูมิจิตภูมิธรรมขั้นสูง
และอีกอย่างหนึ่งในลักษณะเช่นนี้ไปตรงกับพุทธสุภาษิตที่ว่า
ในกาลใดก็ดีเมื่อธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏอยู่แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร
ในกาลนั้นความสงสัยย่อมสิ้นไป


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :
สำหรับนิมิตนี้ถ้าเป็นถึงอุคคหนิมิตหรือปฏิภาคนิมิต
ทำให้สามารถที่จะเห็นได้จากการที่เราดู
หมายความว่าภาพที่เห็นนิมิตอีกอย่างหนึ่งคล้ายๆ กับฝันมีความจริงเพียงใด
กายหยาบหรือนิมิตในฝัน ตัวเองมีนิมิตว่าอย่างนั้นแล้วไปถามว่าแปลว่าอะไร
บางทีก็มีความจริงหรือบางทีก็ไปถามพระอาจารย์
อธิบายว่ามีนิมิตว่ากระไรบ้าง และท่านก็บอกว่านิมิตอย่างนั้นๆ
ที่แปลนิมิต เรื่องนิมิตนี้มีความจริงอย่างไร

หลวงพ่อพุธ : นิมิตนี้บางครั้งก็มีความจริง บางครั้งก็ไม่มีความจริง
เหมือนๆ กับความฝัน คือนิมิตหรือการฝันในขั้นนี้เป็นเรื่องพื้นๆ
โดยทั่วไป


พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :
แต่เรื่องนิมิตนี้เคยนำไปถามท่านผู้ทรงศีลหรือพวกหมอดู เคยไปถามท่าน
อย่างเมื่อเร็วๆ
นี้ได้ไปถามหลวงปู่ขาวว่าจะเป็นอย่างไรกับเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้
ท่านมีนิมิตหรือเปล่า หลวงปู่ท่านก็บอกว่ามีนิมิต
เห็นแปลกก็ตีความหมายว่าไม่มีอะไรมาก แต่ท่านก็ตีความว่าไม่ค่อยจะดี
อย่างนี้นิมิตของผู้ทรงศีลจะเป็นความหมายได้อย่างไร
และอีกอย่างหนึ่งถ้าท่านแปลมาจะมีวิธีการอย่างไร

หลวงพ่อพุธ : นิมิตของผู้ทรงศีลก็อาศัยความมีศีล
และอาศัยความคิดที่เกิดขึ้นของความรู้ เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา
โดยพิจารณาในนิมิตสมาธิภาวนา ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นจริง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : คำว่าอุคคหนิมิตมีความหมายมาจากคำว่า
การทำจิตใจให้มีสติ ไม่ให้หลงในความสวยความงามในทางตรงใช่ไหม

หลวงพ่อพุธ : ความมีสติ ความไม่หลงติดในความสวยความงาม
เป็นผลเกิดจากการพิจารณาทำอุคคหนิมิตให้เกิดขึ้นได้แล้ว
แต่อุคคหนิมิตหมายถึงสิ่งที่มองเห็นติดตา
เกิดจากการเพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งจนเกิดสมาธิแน่วแน่ มองเห็นเป็นนิมิต
ลืมตาก็เห็นหลับตาก็เห็นเรียกว่า อุคคหนิมิต

อีกอย่างหนึ่งเมื่อ โยคาวจรมาพิจารณาอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เป็นต้น โดยน้อมไปสู่ความเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด สกปรก โสโครก
จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ สว่างไสว มีปิติสุข เอกัคคตาเป็นหนึ่งแน่วแน่
แล้วเกิดนิมิตมองเห็นอาการใดอาการหนึ่งในอาการ ๓๒ เช่น กระดูกเป็นต้น
หรือเกิดนิมิตมองเห็นสิ่งปฏิกูลภายในร่างกายก็ดี หลับตาก็มองเห็น
ลืมตาก็มองเห็นติดตา เรียกว่า อุคคหนิมิต มีผลเพื่อบรรเทาราคะให้เบาบางลง
หรือขจัดราคะให้หมดไปตามกำลังแห่งสมาธิและสติปัญญา


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : การพิจารณาความไม่สวยไม่งามนี้
มันเป็นสมมติบัญญัติ ไม่มีความหมาย หรือแล้วแต่จะคิดไปใช่หรือไม่

หลวง พ่อพุธ : แล้วแต่จะคิด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนที่จะเกิดความจริงขึ้นมา
ต้องอาศัยความเป็นจริงที่ปรุงแต่งขึ้นมา
เพื่ออบรมจิตของตัวเองให้มีความคล้อยตาม
และเกิดความเชื่อถือว่าเป็นอย่างนั้น

ถ้าหากจะพิจารณาในปัจจุบัน นี้ ให้พิจารณาน้อมไปถึงอดีต
หากร่างกายนี้แตกสลายไปแล้ว ผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี หนังก็ดี ฟันก็ดี
ล้วนแต่แตกสลายไป
ให้น้อมไปพิจารณาเพื่อให้จิตเกิดความรู้ความจริงเห็นจริง
แม้จะไม่เกิดความเห็นอย่างนี้
แม้จิตจะไม่น้อมเข้าไปสู่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องดังกล่าวก็ตาม


ที่มา http://www.dhammajak.net

__________________

ที่มา http://board.palungjit.com/f4/เรื่องของนิมิต-โดยหลวงพ่อพุธ-ฐานิโย-วัดป่าสาลวัน-194729.html#post2225842

โดย คุณ aMANwalking

1 ความคิดเห็น: