++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

บีโอไอ:โรเบิร์ต แมคนามาร่า...จากเหยี่ยวกระหายสงครามมาเป็นวีรบุรุษแห่งสันติภาพ

บีโอไอ:โรเบิร์ต แมคนามาร่า...จากเหยี่ยวกระหายสงครามมาเป็นวีรบุรุษแห่งสันติภาพ
โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์


เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม มีข่าวใหญ่ทั่วโลกเกี่ยวกับนายโรเบิร์ต แมคนามาร่า
อดีตผู้อำนวยการใหญ่บริษัทฟอร์ด อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารโลก
ได้เสียชีวิตอย่างสงบขณะนอนหลับเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 ขณะที่มีอายุ
93 ปี แต่ก็นับว่าเป็นข่าวเล็กสำหรับประเทศไทย
เมื่อเปรียบเทียบกับข่าวการเสียชีวิตของนักร้องชื่อดัง คือ ไมเคิล
แจ็กสัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน
ซึ่งเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับติดต่อกันหลายวัน

นายโรเบิร์ต แมคนามาร่า เกิดเมื่อปี 2459
จบการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเบิร์กเลย์
เมื่อปี 2480 จากนั้นได้ศึกษาในระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจที่คณะบริหารธุรกิจของมหาวิ
ทยาลัยฮาร์วาร์ดและสำเร็จการศึกษาในปี 2482 โดยทำงานในภาคเอกชน คือ
บริษัทที่ปรึกษา Price, Waterhouse & Company ได้เพียงแค่ปีเดียว
จากนั้นคณบดีคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ชักชวนให้มาเป็น
อาจารย์และเรียนปริญญาเอกไปพร้อมๆ กัน

ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2484
เมื่อกองทัพเรือญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ
อันเป็นต้นเหตุให้สหรัฐฯ เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2
ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ต้องเสริมสร้างอาวุธและกำลังทหารเป็นการใหญ่
จากเดิมที่มีเครื่องบินไม่ถึง 1,800 ลำ และมีนักบินเพียง 500 คน
แต่ประธานาธิบดีรุสเวสต์ของสหรัฐฯ ได้สั่งการให้ผลิตเครื่องบินปีละ
50,000 ลำ กองทัพสหรัฐฯ
จึงแปลงสภาพอย่างไม่เป็นทางการกลายเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในโลก
เพื่อประสานงานการผลิตยุทโธปกรณ์

แต่กองทัพสหรัฐฯ ไม่เชี่ยวชาญการบริหารจัดการ
จึงได้มาขอความช่วยเหลือจากคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
โดยแต่งตั้งให้นาย Charles B. Thornton
หัวหน้าฝ่ายสถิติของกองทัพอากาศเป็นผู้อำนวยการโครงการ
และนายแมคนามาร่าได้เป็นอาจารย์ของฮาร์วาร์ดคนหนึ่งที่มาฝึกอบรมแก่นายทหาร
ดังกล่าว

ต่อมาได้ถูกเรียกประจำการ เพื่อปฏิบัติราชการด้านการทหาร
โดยประจำการในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร จีน อินเดีย ฯลฯ
เนื่องจากเชี่ยวชาญในด้านสถิติ
จึงรับผิดชอบในภารกิจสำคัญเกี่ยวกับการคำนวณว่าจะต้องใช้เครื่องบินจำนวน
เท่าใดเพื่อทิ้งระเบิดในเยอรมนีและญี่ปุ่น ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2488
จึงได้ลาออกจากราชการทหารเมื่อเดือนมกราคม 2489 โดยได้รับยศสูงสุด คือ
นาวาอากาศโท

ภายหลังสงครามสงบ นาย Charles B. Thornton
ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกมาจัดตั้งทีมเพื่อรับจ้างบริหารจัดการแก่บริษัทเอกชน
ที่สนใจปรับปรุงกิจการ และได้เรียกนายแมคนามาร่ามาร่วมทีมด้วย
โดยดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าทีม
โดยบริษัทฟอร์ดในช่วงนั้นมีสถานการณ์ไม่ดีนัก ธุรกิจย่ำแย่ใกล้ล้มละลาย
เนื่องมาจากระบบการบริหารจัดการภายใน ดังนั้น
จึงเชิญทีมงานนี้มาช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการภายในบริษัท

นายแมคนามาร่าประสบผลสำเร็จในการทำงานที่บริษัทฟอร์ดเป็นอย่างมาก
โดยเมื่ออายุเพียง 39 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท
ซึ่งรูปแบบบริหารจัดการของเขา คือ
การตัดสินใจแต่ละครั้งจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ
ตั้งแต่รวบรวมข้อเท็จจริง
ทำการวิเคราะห์ว่าจะส่งผลทำให้บริษัทมีผลกำไรเพิ่มขึ้นหรือลดลง
พร้อมกับกำหนดให้โรงงานแต่ละแห่งจะต้องแข่งขันกันเองในด้านตัวชี้วัดทั้งใน
ด้านปริมาณการผลิตและประสิทธิภาพการผลิต

นายแมคนามาร่ายังนับเป็นผู้มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคม
โดยมุ่งเน้นออกแบบรถยนต์ให้มีความปลอดภัยในการขับขี่
โดยบริษัทฟอร์ดนับเป็นแห่งแรกที่ริเริ่มมาตรฐานความปลอดภัยภายในห้องโดยสาร
และให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมันเพื่อลดการสิ้น
เปลืองทรัพยากรและมลพิษทางอากาศ

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2503
เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทฟอร์ด ขณะที่มีอายุเพียง
44 ปี แต่รับตำแหน่งได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น เมื่อเดือนธันวาคม 2503
ประธานาธิบดีเคนเนดี้สนใจในตัวเขามาก
ภายหลังชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2503
และกำลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
จึงให้ที่ปรึกษาโทรศัพท์ถึงนายแมคนามาร่าและเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงการคลังให้

นายแมคนามาร่ารู้สึกมึนงงมาก
เนื่องจากไม่เคยพบปะและรู้จักประธานาธิบดีเคนเนดี้มาก่อน
และไม่ได้สนับสนุนทางการเงินแก่พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เขาก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง
จึงปฏิเสธตำแหน่งนี้ไป แต่วันรุ่งขึ้น
ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้เสนอตำแหน่งใหม่ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ซึ่งในที่สุดได้ยอมรับตำแหน่งนี้ โดยดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 7 ปี
ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้ต่อเนื่องถึงสมัยประธานาธิบดีจอห์นสัน
โดยเฉพาะประธานาธิบดีจอห์นสันถึงกับชักชวนให้เขาลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดี
ในการเลือกตั้งปี 2507 แต่เขาได้ปฏิเสธไป

ในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ผ่าตัดครั้งใหญ่
โดยได้นำระบบบริหารจัดการสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานแห่งนี้ได้
อย่างประสบผลสำเร็จ ทั้งในส่วนการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์
ปฏิรูประบบจัดซื้ออาวุธเพื่อให้ค่าใช้จ่ายลดลง
รวมถึงปรับปรุงระบบบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ

นายแมคนามาร่านับเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ
ถลำลึกเข้าไปในสงครามเวียดนาม โดยวุฒิสมาชิก Wayne Morse
ของพรรคเดโมแครตแห่งมลรัฐโอเรกอน ถึงกับกล่าวเมื่อเดือนเมษายน 2507
โดยตั้งฉายาสงครามเวียดนามว่า "สงครามแมคนามาร่า" ซึ่ง
เขาไม่ได้กล่าวแย้งแต่อย่างใด โดยถึงกับกล่าวว่า
"ผมยินดีที่ได้ถูกนำชื่อไปใช้เรียกสงครามครั้งนี้ ....
และจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อชนะสงครามครั้งนี้"

รัฐบาลสหรัฐฯ
เชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าด้วยพลังแห่งเทคโนโลยีจะสามารถเอาชนะสงคราม
เวียดนามได้อย่างไม่ยาก มีการส่งทหารสหรัฐฯ มากถึง 500,000 คน
เพื่อทำสงครามครั้งนี้ โลกได้ประจักษ์ถึงนวัตกรรมในด้านยุทธวิธีของสหรัฐฯ
ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งระเบิดแบบปูพรมของเครื่องบินบี 52
ซึ่งมีอำนาจทำลายล้างอย่างรุนแรง
สามารถทำลายเมืองทั้งหมดให้ลบหายออกไปจากแผนที่
รวมถึงรูปแบบกองทหารม้าอากาศ
ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์หลายพันเครื่อง
สามารถส่งกำลังทหารไปค้นหาและทำลายข้าศึกอย่างง่ายดายในทุกสมรภูมิ

อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด
โดยในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมเป็นเวลา 7 ปี ทหารสหรัฐฯ
เสียชีวิตมากกว่า 16,000 คน
ทำให้เขาได้เริ่มตระหนักว่าเป็นสงครามที่ไม่สามารถเอาชนะได้ ดังนั้น
ในเดือนเมษายน 2510
จึงได้เสนอรายงานให้ประธานาธิบดีจอห์นสันปรับเปลี่ยนท่าที
โดยหันมาเจรจากับฝ่ายเวียดนามเหนือเพื่อยุติสงคราม
แต่ความคิดของเขากลับไม่ได้รับการเห็นชอบจากประธานาธิบดีจอห์นสันแต่อย่างใด
ซึ่งยังคงดื้อดึงทำสงครามต่อไป โดยหากดำเนินการตามที่เขาร้องขอ คือ
ถอนกำลังทหารออกมาในช่วงนั้นแล้ว สหรัฐฯ คงสูญเสียชีวิตทหารเพียง 16,000
คน ไม่ต้องสูญเสียชีวิตทหารเพิ่มอีกมากถึง 42,000 คน

ขณะเดียวกันประธานาธิบดีจอห์นสันได้เห็นว่าเขาเป็นฝ่ายทรยศ
จึงบีบให้เขาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกลาโหมเมื่อเดือนมกราคม 2511
โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อไปสมัครทำงานเป็นผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารโลก
ซึ่งต่อมาเขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้อำนวยการใหญ่ของธนาคารโลก
โดยทำงานในตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลายาวนานถึง 13 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน
2511 จนถึงปี 2524 โดยมีภารกิจสำคัญ คือ
การเร่งรัดแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศกำลังพัฒนา

ภายหลังเกษียณการทำงานที่ธนาคารโลกเมื่ออายุ 65 ปี
เขายังทำงานเป็นกรรมการและที่ปรึกษาให้กับสถาบันต่างๆ
จำนวนมากทั้งในส่วนบริษัท มูลนิธิ มหาวิทยาลัย ฯลฯ เป็นต้นว่า
เป็นกรรมการบริษัทหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ กรรมการบริษัทน้ำมันเชลล์
รวมถึงเป็นประธานกรรมการ Overseas Development Council ซึ่งเป็นหน่วยงาน
NGO ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้คนสหรัฐฯ
ตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศกำลังพัฒนา

ในช่วงหลังเขาพยายามดำเนินการเรียกร้องสันติภาพและต่อต้านสงคราม
โดยได้ศึกษาครุ่นคิดถึงประสบการณ์การทำสงครามในอดีตและสรุปถึงบทเรียนสำคัญ
11 ข้อ โดยนำเนื้อหาดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Fog of
War: Eleven Lessons from the Life of Robert S. McNamara
ซึ่งเขาเป็นผู้บรรยายด้วยตนเอง และนำมาเผยแพร่แก่สาธารณชนเมื่อปี 2546

สำหรับใน 11 ข้อนั้น ข้อแรกซึ่งนับว่าสำคัญที่สุด คือ
จะต้องสร้างความรู้สึกร่วมกับฝ่ายตรงข้าม (Empathize with your enemy)
โดยจะต้องพยายามมองโลกผ่านสายตาหรือทัศนะของฝ่ายตรงข้ามให้ได้
สำหรับความผิดพลาดสำคัญของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม คือ
ไม่เข้าใจทัศนคติที่แท้จริงในด้านภูมิรัฐศาสตร์ของฝ่ายตรงข้าม คือ
เวียดนามเหนือ ซึ่งตามความจริงแล้วต้องการอิสรภาพ
ไม่ได้มุ่งหวังอย่างแรงกล้าที่จะรุกรานประเทศอื่นๆ
เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างที่คิดกัน

แต่สหรัฐฯ
กลับมองฝ่ายเวียดนามเหนือผ่านการบิดเบือนของแว่นสงครามเย็น
โดยมองในแง่ร้ายกว่าความเป็นจริง
หวั่นเกรงว่าหากรัฐบาลเวียดนามใต้ล่มสลายแล้ว ประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย
รวมถึงประเทศไทย จะถูกลัทธิคอมมิวนิสต์ยึดครองตามไปด้วย
จากมุมมองที่บิดเบือนเช่นนี้ ทำให้สหรัฐฯ
ตัดสินใจผิดพลาดในการกระโจนเข้าทำสงครามที่สูญเปล่า

เขา ยังมีมุมมองในแง่ลบเกี่ยวกับการทำสงครามของสหรัฐฯ
ซึ่งมีลักษณะมือถือสากปากถือศีล
และพยายามอ้างอยู่เสมอว่าฝ่ายตนเองมีมนุษยธรรม
ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามขาดมนุษยธรรม โดยได้หักล้างข้ออ้างข้างต้น
ยกตัวอย่างการทิ้งระเบิดของเครื่องบินสหรัฐฯ
ในประเทศญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะการทิ้งระเบิดเพลิง
ส่งผลทำให้พลเรือนญี่ปุ่นเสียชีวิตมากถึง 900,000 คน หากสหรัฐฯ
เป็นฝ่ายแพ้สงครามในครั้งนั้น ผู้นำทหารของสหรัฐฯ
จะต้องถูกดำเนินคดีโดยศาลระหว่างประเทศว่าด้วยอาชญากรรมสงครามอย่างแน่นอน

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000081457

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น