++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พูดซัดส่ายไม่ตายตัว : การปฏิเสธรูปแบบหนึ่ง

โดย สามารถ มังสัง 20 กรกฎาคม 2552 15:20 น.
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึงความคิดเห็น 62 ประการของพราหมณ์
โดยแบ่งเป็นความเห็นปรารภเบื้องต้นของสิ่งต่างๆ ว่าเป็นมาอย่างไร
(ปุพพันตกัปปิกะ) 18 ประเภท และความเห็นปรารภเบื้องปลายของสิ่งต่างๆ
ว่าจะลงเอยสุดท้ายอย่างไร (อปรันตกัปปิกะ) 44 ประเภท รวมเป็น 62 ประเภท
ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะประเภทเบื้องต้น ไว้ดังนี้

ประเภทเบื้องต้น แบ่งออกเป็น 5 หมวด และมีประเภทย่อยของแต่ละหมวดดังนี้

1. หมวดเห็นว่าเที่ยง (สัสสตวาทะ) มีอยู่ 4 ข้อ
ก.เห็นว่าตัวตน (อัตตา) และโลกเที่ยง
เพราะระลึกชาติได้ตั้งแต่ชาติเดียวจนถึงแสนชาติ
ข. เห็นว่าตัวตน และโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้เป็นกัปป์ๆ
ตั้งแต่วันเดียวถึง 10 กัปป์
ค. เห็นว่าตัวตน และโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้มากกัปป์ตั้งแต่
10 กัปป์จนถึง 40 กัปป์
ง. เดาตามความคิดคาดคะเนว่า โลกเที่ยง

2. หมวดเห็นว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง (เอกัจจสัสสติกะ
เอกัจจอสัสสติกะ) มี 4 คือ
ก. เห็นว่าพระพรหมเที่ยง แต่พวกเราที่พระพรหมสร้างไม่เที่ยง
ข. เห็นเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกที่มีโทษเพราะเล่นสนุกสนานไม่เที่ยง
ค. เห็นว่าเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกที่มีโทษเพราะคิดร้ายผู้อื่นไม่เที่ยง
ง. เดาตามความคิดคาดคะเนว่า ตัวตนฝ่ายกายไม่เที่ยง ตัวตนฝ่ายจิตเที่ยง

3. หมวดเห็นว่ามีที่สุด และไม่มีที่สุด (อันตานันติกะ) มี 4 คือ
ก. เห็นว่าโลกมีที่สุด
ข. เห็นว่าโลกไม่มีที่สุด
ค. เห็นว่าโลกมีที่สุดเฉพาะด้านบนกับด้านล่าง
ส่วนด้านกว้างหรือด้านขวางไม่มีที่สุด
ง. เดาตามความคิดคาดคะเน โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่

4. หมวดพูดซัดส่ายไม่ตายตัวแบบปลาไหล (อมราวิกเขปิกะ) มี 4 คือ
ก. เกรงว่าจะพูดปด จึงพูดปฏิเสธว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่
อย่างนั้นก็ไม่ใช่ มิใช่ (อะไร) ก็ไม่ใช่
ข. เกรงว่าจะยึดถือ จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ 1
ค. เกรงจะถูกซักถาม จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ 1
ง. เพราะโง่เขลา จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ 1 และไม่ยอมหรือยืนยันอะไรเลย

5. หมวดเห็นว่าสิ่งต่างๆ มีขึ้นเอง ไม่มีเหตุ (อธิจจสมุปปันนะ) มี 2 คือ
ก. เห็นว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ เพราะเคยเป็นอสัญญีสัตว์
ข. เดาตามความคิดคาดคะเนว่าสิ่งต่างๆ มีขึ้นเอง โดยไม่มีเหตุ

โดยนัยแห่งเนื้อหาและสาระของความเห็นหรือทิฏฐิ 18
ประเภทดังกล่าวแล้วข้างต้น สังเกตได้ว่า
ในการมองเห็นหรือสัมผัสสิ่งเดียวกันของคน 2 คนขึ้นไป
จะมีความเห็นต่อสิ่งนั้นต่างกันเป็น 5 ประเภท
ซึ่งถ้าจะอธิบายขยายความด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
ก็จะสรุปได้เป็นประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. พวกที่เห็นว่าเที่ยงโดยส่วนเดียว
ก็คือพวกที่เชื่ออย่างหัวปักหัวปำ และยืนกระต่ายขาเดียวว่า
ความเห็นของตนถูกต้อง

2. ประเภทแบ่งรับแบ่งสู้ อันได้แก่ข้อที่ 2 ที่บอกว่า
บางประเภทเที่ยง บางประเภทไม่เที่ยง บางประเภทมีที่สุด
และบางประเภทไม่มีที่สุด เป็นต้น

3. ประเภทปฏิเสธอย่างเดียวชนิดปิดหูปิดตา ไม่เห็นไม่ฟังคนอื่น
ดังที่ปรากฏในหมวดที่ 4

คนทั้ง 3 ประเภทนี้แม้กระทั่งในปัจจุบันก็มีปรากฏให้เห็นอยู่
ถึงแม้จะไม่เด่นชัดถึงขั้นแบ่งออกเป็นประเภทแห่งความเห็นได้เหมือนในอดีตแต่
ก็มีอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระพุทธเจ้าในครั้งที่ทรงออกผนวช
และยังไม่ได้ตรัสรู้ก็ได้ศึกษาค้นคว้าทดลองแนวทางแห่งการมองสรรพสิ่งแบบนี้
แต่ในที่สุดก็พบว่าไม่ใช่สัจธรรมที่ควรยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
และได้ทรงค้นคว้าด้วยพระองค์เองจนได้บรรลุธรรม
และได้สอนหลักคำสอนซึ่งสวนทางหรือหักล้างทิฏฐิที่ว่านี้โดยสิ้นเชิง
จะเห็นได้ในคำสอนดังต่อไปนี้

1. ในประเด็นที่อัตตาและโลกอันหมายถึงสรรพสิ่งเที่ยง
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
และดับไป ไม่มีอะไรแน่นอน

2. ในประเด็นที่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ
พระพุทธองค์ได้ทรงสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแต่เหตุ
ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ ตามหลักแห่งปัจจยาการ

3. ในการพูดและการกระทำที่ไม่ตรงกัน
หรือเข้าข่ายการพูดพลิกพลิ้วไปมาไม่ตายตัว เนื่องจากกลัวผิด กลัวโง่
กลัวคนจะยึดเป็นแบบอย่าง รวมไปถึงกลัวจะพูดปด ดังที่ปรากฏในหมวด 4
ข้ออมราวิกเขปิกะ พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า พระองค์พูดอย่างไรทำอย่างนั้น
(ยถาวาที ตถาการี) โดยไม่เกรงกลัวใดๆ

สิ่งที่ปรากฏในหมู่คนในยุคพุทธกาล
ในส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงความเห็นนั้นมิได้หดหายไปจากสังคมมนุษย์ปุถุชนคน
มีกิเลส ถึงแม้กาลเวลาจะลุล่วงผ่านพ้นไปแล้วถึง 2,500 กว่าปี
และระหว่างนี้สังคมมนุษย์ได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากแล้วก็ตาม

ตรงกันข้าม การแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ
ตัวของผู้คนในปัจจุบันในเรื่องที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง
และอาจได้รับผลกระทบในทางลบ
คนในปัจจุบันก็จะมีพฤติกรรมในการพูดไม่แปลกแยกไปจากคนโบราณ 2,000
กว่าปีมากนัก ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดเจนในกรณีของคดียิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล
จนได้รับบาดเจ็บ
และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ได้ออกหมายจับผู้ต้องหา
2 คน เป็นตำรวจ 1 คน และทหาร 1 คน

ในทันทีที่ข่าวนี้ปรากฏออกไปได้มีทั้งนักการเมือง และตำรวจ
ทหารบางคนได้ออกมาแสดงความเห็นในลักษณะอมราวิกเขปิกะ
โดยใช้สำนวนโวหารบิดเบือนและชี้นำในรูปแบบต่างๆ เป็นต้นว่า
เป็นเรื่องส่วนบุคคล สถาบันไม่เกี่ยวข้องอย่ามาโยงเข้าด้วยกัน
หรือบางคนได้พูดออกมาอย่างที่เห็นได้ชัดว่าร้อนรนประหนึ่งว่าตนเองหรือพรรค
พวกของตนเองอยู่ในข่ายเข้าไปร่วมในการกระทำผิดของคดีนี้ด้วย
เช่นบอกว่าอย่าใช้จินตนาการในการหาผู้กระทำผิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำสื่อจะถูกคนกลุ่มนี้มองว่าเป็นพวกสร้าง
จินตนาการในการเขียนข่าว ในฐานะผู้เขียนเป็นสื่อจึงอยากบอกว่า
ก่อนที่จะพูดหรือแสดงออกในการป้องกันตัวเอง
หรือพรรคพวกขอให้ยึดในทางตรรกะให้รอบคอบ
โดยในประเด็นที่ว่าเป็นเรื่องส่วนตัวสถาบันไม่ควรถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะในความเป็นจริง ถ้าดูผู้ถูกออกหมายจับกับคนที่ถูกทำร้ายแล้ว
เรื่องส่วนตัวระดับไหนที่ผู้ต้องหาซึ่งข้าราชการและไม่มีความโกรธแค้นเป็น
การส่วนตัวอย่างรุนแรง จะลงมือกระทำการอันเหี้ยมโหดเยี่ยงนี้ได้

อีกประการหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว
ไหนเลยผู้ต้องหาซึ่งเป็นข้าราชการระดับชั้นประทวนจะมีศักยภาพ
ในการดำเนินการเยี่ยงนี้ได้
เพียงแง่คิดในเชิงตรรกะแค่นี้ก็พอจะทำให้ผู้ที่ออกมาบอกจนแต้มหากถูกถามต่อ
หน้าผู้พิพากษาในขั้นตอนซักจำเลยแล้ว

แต่ อย่างไรก็ตาม
ผู้เขียนเชื่อว่าคดีนี้จะยิ่งชัดเจนว่าการลอบยิงเป็นเรื่องส่วนตัวจริงหรือ
ไม่จริง ก็จะได้เห็นเมื่อมีหมายจับรอบสองและใกล้ตัวผู้บงการ จ้างวาน
หรือถูกสั่งการที่มากกว่า 2 ผู้ต้องหาที่ออกหมายจับแล้วอย่างแน่นอน
และถ้าเป็นเช่นนี้จริง การพูดแบบซัดส่ายไม่ตายตัวตามทิฏฐิหมวดที่ 4
จะปรากฏให้เห็นในยุคปัจจุบัน

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000081874

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น