++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"บ้านท่าเรือ"นครพนม ผ้าไหมดี เครื่องดนตรีเด่น

"บ้านท่าเรือ"นครพนม ผ้าไหมดี เครื่องดนตรีเด่น


แคนดัง แคนดี ที่บ้านท่าเรือ
ด้วยความที่วิถีชีวิตของชาวอีสาน เป็นคนที่ชื่นชอบความสนุกสนาน
เฮฮา เวลามีงานบุญก็ร่วมมือร่วมใจกัน เมื่องานเสร็จ
หลังจากเหนื่อยมาทั้งวันก็จะถึงเวลาฮาเฮของบรรดาเพื่อนพ้องญาติมิตรทั้งหลาย
ทำให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยไปสิ้น

ด้วยเหตุนี้ดนตรีอีสานจึงเป็นสรรพสำเนียงที่สนุกสนาน คึกคัก
ครึกครื้น สร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ที่ได้ยินได้ฟังอยู่ไม่สร่างซา
ซึ่งนอกจากเสียงดนตรีอันสนุกสนานแล้ว
ต้นทางของเสียงดนตรีอย่างเครื่องดนตรีอีสาน อาทิ แคน โหวด พิณ
ของถือเป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์สำคัญของคนในภูมิภาคนี้

ชาวบ้านท่าเรือนั่งทำแคนอย่างขะมักเขม้น
สำหรับที่ภาคอีสานนั้น
หมู่บ้านที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการทำเครื่องดนตรีอีสานนั้นเห็นจะหนีไม่พ้น
บ้านท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม
ที่ผลิตเครื่องดนตรีอีสานโดยเฉพาะแคน(คุณภาพดี)มาเป็นเวลาช้านาน

แคนที่นี่ ไม้ที่ใช้ทำตัวแคนเป็นไม้ไผ่ลำเล็กๆนำเข้าจากประเทศลาว
ชาวบ้านเรียกว่าไม้ลูกแคน ส่วนลิ้นแคนทำจากทองเหลือง
โดยชาวบ้านจะใช้ไม้เฮี้ยมาขัดลิ้นแคนทำให้ลิ้นแคนเรียบลื่นไม่เป็นขุย
เมื่อเป่าแล้วจึงเกิดเสียงที่ไพเราะ ซึ่งชาวบ้านบ้านท่าเรือได้คิดค้น
"แคน" ที่สามารถเล่นกับดนตรีสากลได้

โหวด
นายเกษชัย มิ่งวงศ์ธรรม ที่ปรึกษากลุ่มศิลปาชีพบ้านท่าเรือ
และกรรมการสภาวัฒนธรรม อ.นาหว้า เล่าว่า เครื่องดนตรีอีสานนั้น
ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานนับแต่บรรพบุรุษ
ซึ่งถือเป็นการถ่ายทอดงานฝีมือให้แก่บรรดาลูกหลานให้สามารถประดิษฐ์
และประกอบต่อ ๆ กันไปได้ ที่บ้านท่าเรือแห่งนี้ก็เช่นกัน
ที่ได้รับการสืบทอดการผลิตเครื่องดนตรีอีสานมาตั้งแต่อดีตนับร้อยปี
ซึ่งบรรพบุรุษที่อพยพมาอยู่ที่บ้านท่าเรือนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจาก อ.นาแก
โดยเริ่มต้นจากการผลิต "แคน" ก่อน จากนั้น ชาวบ้านจึงได้พัฒนา เป็นพิณ
โหวต โปงลาง และเครื่องดนตรีชนิดอื่น
เพื่อให้เส้นสายลายเสียงมีความเหมาะสมและสมบูรณ์ทุกระดับเสียงเมื่อเล่น
พร้อมกัน

เครื่องดนตรีอีกประเภทหนึ่งที่ผลิตกันมากในหมู่บ้านแห่งนี้ คือ
"โหวด" ซึ่งใช้อุปกรณ์การผลิตที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม้กู่แคน มูลของชันโรง
แต่รูปแบบการประกอบจะติดกันเป็นวงกลม ซึ่งผู้เป่าจะหมุนโหวตไปมา
ทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะในระดับเสียงต่างๆขึ้นมา

พิณ บ้านท่าเรือ
นอกจากนี้บ้านท่าเรือ ยังมีการทำเครื่องดนตรีชนิดอื่นอีก อาทิ
ปี่นก โปงลาง พิณ มีทั้งพิณแบบดั้งเดิมและ"พิณไฟฟ้า"
ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในวงดนตรีอีสาน

สำหรับเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกด้านของบ้านท่าเรือ
ที่นับเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาควบคู่กับการทำเครื่องดนตรี คือ
การทอผ้าไหมคุณภาพระดับโอทอป 5 ดาว ซึ่งศูนย์หัตถกรรมบ้านท่าเรือ นั้น
ได้รับรางวัลพระราชทานจากการประกวดผ้าไหมมากที่สุด โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.
2533 ถึงปัจจุบันนั้น ศูนย์หัตถกรรมบ้านท่าเรือได้รับรางวัลพระราชทานถึง
500 รางวัลด้วยกัน และที่น่าสนใจ คือ
บ้านท่าเรือนั้นเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกที่ตั้งขึ้นในประเทศไทย เมื่อ
ปีพ.ศ. 2520

ผ้าไหมขึ้นชื่อ
เรียกได้ว่า หากใครที่ได้มาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้
จะต้องซื้อสินค้าผ้าทอ ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม
หรือผ้าฝ้ายกลับไปเป็นสินค้าที่ระลึก ซึ่งผู้ที่มีโอกาสไปเยือน จ.นครพนม
หากมีโอกาสก็สามารถแวะเวียนไปสัมผัสวิถีอีสานกันได้ที่ บ้านท่าเรือ
อ.นาหว้า จ.นครพนม โดยสามารถสออบถามการเดินทางและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ททท. สำนักงานนครพนม โทร. 0-4251-3490-1

http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000074465

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น